A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

ADVERTORIALS

    

EXP กับ BBF อักษรย่อวันหมดอายุ กินต่อได้ หรือ ต้องทิ้ง



สิ่งที่ผู้บริโภคควรที่จะสังเกตก่อนที่จะเลือกซื้อหรือใช้ผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร เครื่องดื่ม ยา หรือ เครื่องสำอางก็ตาม ข้อมูลผลิตภัณฑ์ ข้อมูลโภชนาการ หรือ ส่วนประกอบต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ วันผลิต วันหมดอายุ อักษรย่อบนผลิตภัณฑ์หรือสินค้า อาทิเช่น MFG / MFD, EXP / EXD, BB / BBE ตัวย่อเหล่านี้ก็มีความสำคัญอย่างมาก เพราะตัวอักษรและตัวเลขวันที่แสดงถึงวันหมดอายุ วันผลิต ว่าเราสามารถรับประทานหรือเก็บรักษาผลิตภัณฑ์นี้ได้นานเพียงใด



สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ควรใส่ใจเป็นพิเศษก็คือ วันหมดอายุ ข้อมูลวันหมดอายุนั้นจะเป็นลักษณะของตัวย่อแสดงไว้บนบรรจุภัณฑ์ตามที่ต่าง ๆ เช่น ฝาขวด บนฉลาก ด้านล่างหรือด้านข้างผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งอาจมีอักษรย่อเป็น EXP หรือ BBF ความแตกต่างของอักษรย่อ 2 ตัวนี้ คือ

• EXP วันหมดอายุ ย่อมาจาก (Expiry Date / Expiration Date) คือ วันสุดท้ายที่เราสามารถรับประทานผลิตภัณฑ์นั้นได้ อาหารหรือของชนิดนั้นไม่สามารถนำมาใช้หรือรับประทานได้อีกแล้ว เพราะหมดอายุไปแล้ว

ความหมายตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขว่า “วันที่ซึ่งแสดงการสิ้นสุดของคุณภาพของอาหารภายใต้เงื่อนไข การเก็บรักษาที่ระบุไว้ และหลังจากวันที่ระบุไว้นั้น อาหารนั้นวางจําหน่ายไม่ได้”

• BB หรือ BBF ควรบริโภคก่อนวันที่ ย่อมาจาก (Best Before / Best Before End) คือ วันสุดท้ายที่ผลิตภัณฑ์จะเหมือนเดิม ซึ่งหลังจากวันดังกล่าวยังสามารถบริโภคต่อได้อีกวันถึงสองวัน แต่คุณภาพและรสชาติของอาหารจะมีการเปลี่ยนแปลง หรือ ลดลงไปจากเดิม

ความหมายตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขว่า “วันที่ซึ่งแสดงการสิ้นสุดของช่วงเวลาที่อาหารนั้นยังคงคุณภาพดี ภายใต้เงื่อนไขการเก็บรักษาที่ระบุไว้ และหลังจากวันที่ระบุไว้นั้น อาหารนั้นวางจําหน่ายไม่ได้”

ตัวอย่างอาหารแต่ละประเภทที่มีการระบุวันหมดอายุว่า หากเลยวันหมดอายุไปแล้ว ควรจะบริโภคดีหรือไม่

• นมพาสเจอร์ไรส์ (Pasteurization) ส่วนใหญ่บรรจุในถุงหรือขวดพลาสติก อายุการเก็บรักษาสั้น เพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ และต้องเก็บรักษาในที่อุณหภูมิต่ำ เพราะผ่านการฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิไม่สูงมาก ทำลายเฉพาะเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตราย แต่ยังมีเชื้อจุลินทรีย์อื่น ๆ หลงเหลืออยู่ ซึ่งเมื่อมีมากเกินไป อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงไม่แนะนำให้บริโภคหากเลยวันหมดอายุแล้ว

• นมสเตอริไลส์ (Sterilization) มักบรรจุในกระป๋อง และ นมยูเอชที (Ultra High Temperature) ที่มักบรรจุกล่อง นมประเภทนี้จะผ่านการฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิสูงมาก จึงสามารถเก็บไว้ได้ที่อุณหภูมิห้องในภาชนะปิดสนิทเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน แต่หากเกินกว่านั้นไปแล้วประมาณ 1-2 เดือน ก็ยังสามารถบริโภคได้อยู่ แต่ทางที่ดีนั้นไม่ควรบริโภคเมื่อพบว่าหมดอายุแล้ว

• น้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มบรรจุขวด กล่อง และกระป๋อง ผ่านกรรมวิธีการผลิตและมีวิธีการเก็บรักษาคล้ายกับผลิตภัณฑ์นม

• ขนมปังอบกรอบ แครกเกอร์ หรือคุกกี้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่อบจนแห้งมาก ไม่ค่อยพบการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้เก็บรักษาได้นาน ทว่าวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักเป็นสิ่งที่รับประกันคุณภาพ ในเรื่องรูปร่างหน้าตาและความกรอบอร่อย เพราะถ้าเก็บไว้นานเกินไป ก็จะมีโอกาสดูดความชื้นจากบรรยากาศได้และทำให้หายกรอบและไม่อร่อย แม้จะยังไม่เสียก็ตาม

• ขนมปังปอนด์และขนมปังอบทั่วไป ซึ่งไม่ได้ใช้ความร้อนสูงมากเท่าขนมปังกรอบ อายุการเก็บรักษาประมาณ 10 วัน และหากเก็บรักษาในที่แห้ง อุณหภูมิต่ำ หรือในตู้เย็น ก็สามารถยืดอายุได้ราว 2-3 วัน และยังสามารถรับประทานได้อยู่ แต่หากเปิด-ปิดภาชนะบรรจุบ่อยครั้ง และเก็บรักษาไม่ดีพอ ก็อาจทำให้อายุการเก็บรักษาสั้นลงได้ เพราะความชื้นจากอากาศและเชื้อจุลินทรีย์ภายนอกที่ปนเปื้อนเข้าไป จะทำให้ขนมปังเสียได้ง่าย

• อาหารกระป๋องทั่วไป มีอายุการเก็บรักษาได้นาน เพราะผ่านกระบวนการผลิตที่มีการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์อย่างดีมาก จึงเก็บรักษาได้นานประมาณ 1-2 ปี เช่น ผลไม้กระป๋อง ปลากระป๋อง และหลังจากเลยวันหมดอายุไปแล้วไม่กี่วันก็ยังสามารถรับประทานได้โดยไม่มีอันตรายใด ๆ เพียงแต่ลักษณะหรือสีสันอาจแปรเปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อยเท่านั้น

• เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่วางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต ส่วนใหญ่เก็บรักษาอยู่ในที่อุณหภูมิต่ำตลอดเวลา รวมทั้งผ่านกระบวนการผลิตที่ค่อนข้างสะอาด และการแบ่งจำหน่ายก็มักไม่มีการสัมผัสกับเนื้อสัตว์โดยตรง จึงลดโอกาสการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในระดับหนึ่ง และโอกาสเน่าเสียก็จะน้อยกว่าเนื้อสัตว์ที่จำหน่ายในตลาดสดทั่วไป หากเลยวันหมดอายุที่ระบุไว้แล้ว แต่ยังมีลักษณะที่ดี สีสันสดตามธรรมชาติ และไม่มีเมือก ก็ยังสามารถนำมาปรุงอาหารได้ และหากเก็บรักษาแช่แข็งไว้ในตู้เย็นก็จะช่วยยืดอายุและรักษาคุณภาพไปได้อีกหลายวัน

ทั้งนี้ ไม่ว่าบนจะระบุเป็น BBF ‘ควรบริโภคก่อนวันที่’ หรือ EXP ‘วันที่หมดอายุ’ ก็ควรเก็บอาหารให้ถูกวิธีตามที่กำหนดไว้ เพราะหากเก็บไม่ถูกวิธีอาหารก็มีโอกาสเสียก่อนวันที่ที่กำหนดไว้ได้ และก่อนรับประทานควรตรวจดู วันหมดอายุก่อนทุกครั้ง หรือ เช็คคุณภาพอาหารว่ามีรสชาติ หรือ กลิ่นไม่พึงประสงค์หรือไม่ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและเสี่ยงต่อการท้องเสียได้อีกด้วย

ขอบคุณที่มาโดย : iMark Engineering , KaiJeaw , Maanow , MGR Online , Thaihitz , พลังวาฬบางอย่าง

ขอบคุณภาพโดย : brgfx จาก Freepik

บทความน่าสนใจ >> ข้อมูลสำคัญต้องมีบนฉลากอาหาร

อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่