A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

NEWS

    

คอกาแฟกระอักรับมือซดของแพง เมล็ดดิบราคาพรวดโลละ 200 บาท

“กาแฟ"

ราคากาแฟพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ หลังผู้ผลิตบราซิล-เวียดนาม ผลผลิตลดติดต่อกันหลายครอป ดันราคาเมล็ดกาแฟไทยโรบัสต้าทะลุ 200 บาท/กก. ใกล้เคียงอราบิก้า ด้านผู้ค้ากาแฟ-โรงคั่วกัดฟันปรับขึ้นราคากาแฟคั่ว-สำเร็จรูปเพิ่มอีก 20-50% “พันธุ์ไทย-อเมซอน” ยังไม่ขึ้นราคา

ราคาเมล็ดกาแฟในตลาดโลกกำลังพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ หลังจากพื้นที่ปลูกกาแฟในแหล่งผลิตสำคัญได้รับความเสียหายจากความแปรปรวนของภูมิอากาศ ส่งผลกระทบไปถึงผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่มกาแฟหลายแบรนด์มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นราคามาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานสถานการณ์การผลิตกาแฟไทยปีการผลิต 2567/2568 (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2568) ก็ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเช่นกัน

โดยประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกกาแฟกว่า 220,053 ไร่ (กาแฟอราบิก้า 139,998 ไร่ และโรบัสต้า 80,055 ไร่) เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีพื้นที่ปลูก 216,517 ไร่ (กาแฟอราบิก้า 129,778 ไร่ และโรบัสต้า 86,739 ไร่) ผลผลิตรวม 15,651 ตัน (อราบิก้า 10,682 ตัน และโรบัสต้า 4,969 ตัน) หรือผลผลิตลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีผลผลิต 16,623 ตัน (กาแฟอราบิก้า 10,690 ตัน และโรบัสต้า 5,933 ตัน)

แต่ปริมาณผลผลิตกาแฟไทยก็ยัง “น้อยกว่า” ปริมาณความต้องการใช้ที่ต้องการมากกว่า 95,500 ตัน ส่งผลทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้ากาแฟทั้งในรูปเมล็ดกาแฟดิบ เมล็ดกาแฟคั่ว กาแฟสำเร็จรูป และรูปแบบอื่น ๆ มากกว่า 80,000 ตัน/ปี

มีผลทำให้ราคากาแฟมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากพิจารณาราคาที่เกษตรกรขายได้พบว่า เมล็ดกาแฟอราบิก้า (กะลา) เฉลี่ยราคา ณ เดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ 163 บาท/กก. เมื่อเปรียบเทียบกับราคาเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา กาแฟอราบิก้า (กะลา) เฉลี่ยอยู่ที่ 160 บาท/กก. หรือราคาเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.88 และกาแฟโรบัสต้าเฉลี่ยอยู่ที่ 188 บาท/กก. เมื่อเปรียบเทียบกับราคาเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา กาแฟโรบัสต้า (กาแฟสาร-เมล็ดกาแฟดิบพร้อมคั่ว) เฉลี่ยอยู่ที่ 80 บาท/กก. หรือราคาเพิ่มสูงขึ้นมากถึงร้อยละ 135.00

น.ส.วินิดา มังกรกาญจน์ นายกสมาคมกาแฟไทย กล่าวถึงราคาเมล็ดกาแฟในขณะนี้ว่า พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยราคาเมล็ดกาแฟโรบัสต้า (กาแฟสาร) ที่ภาคใต้เฉลี่ยอยู่ประมาณ 200 บาท/กก.ต้น ๆ ขณะที่กาแฟอราบิก้าอยู่ที่ประมาณ 200 บาท/กก.ปลาย ๆ (ราคารับซื้อเมล็ดกาแฟโรบัสต้า ณ จุดรับซื้อที่จังหวัดชุมพร ของบริษัท เนสท์เล่ ณ วันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นราคารับซื้อวันสุดท้ายของฤดูกาลผลิตปี 2567/2568 อยู่ที่ กก.187.50 บาท) ซึ่งจัดเป็นราคา ณ จุดรับซื้อที่สูงมาก สอดคล้องกับราคาเมล็ดกาแฟในตลาดโลกก็สูงเป็นประวัติการณ์เช่นกัน

“Supply ของเมล็ดกาแฟทั้งโรบัสต้าแหล่งผลิตที่เวียดนาม อราบิก้าแหล่งผลิตในบราซิล ลดลงอย่างมากและลดลงติดต่อกันมาหลายฤดูกาล เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศ เกิดภัยแล้งในแหล่งผลิตสำคัญ (บราซิล) ประกอบกับชาวสวนกาแฟเวียดนามบางส่วนโค่นต้นกาแฟทิ้งแล้วหันมาปลูกพืชอื่นอย่างทุเรียนแทน เนื่องจากได้ผลผลิตหลายครั้งต่อปี เหมือนกับชาวสวนกาแฟภาคใต้ก็หันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้น

ดังนั้นในขณะที่ผลผลิตกาแฟลดลง แต่ความต้องการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาทั้งเมล็ดกาแฟ กาแฟคั่ว และกาแฟสำเร็จรูป พุ่งสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน เฉพาะราคาเมล็ดกาแฟโรบัสต้าไทยน่าจะมีราคาสูงสุดในรอบหลายสิบปีก็ว่าได้ ประกอบกับการขาดแคลนผลผลิต ทำให้ราคาเมล็ดกาแฟโรบัสต้า กับอราบิก้า ขยับเข้าใกล้กันมากขึ้น จากเดิมที่ราคาห่างกันมาก จนอาจกล่าวได้ว่าในขณะนี้ไม่มีเมล็ดกาแฟราคาถูกอีกแล้ว ดังนั้นปีนี้จึงเป็นปีที่ยากมากสำหรับคนประกอบธุรกิจกาแฟ” น.ส.วินิดากล่าว

การปรับขึ้นของราคาเมล็ดกาแฟดิบ (กะลา) ซึ่งเป็นต้นทาง ทำให้ต้นทุนการแปรรูปกาแฟกะลามาเป็นกาแฟสารของโรงคั่วเมล็ดกาแฟสูงตามไปด้วย มีผลต่อราคากาแฟคั่วที่โรงคั่วจำหน่ายให้กับลูกค้า จากปี 2567 คาดการณ์ว่าราคากาแฟคั่วที่จำหน่ายให้กับลูกค้าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20% แต่ในปีนี้ (2568) น่าจะต้องปรับเพิ่มขึ้นไปถึง 50% เพราะราคาเมล็ดกาแฟโลกจากทุก ๆ แหล่งที่นำเข้ามา กับแหล่งผลิตในประเทศเอง ไม่ได้ลดลงเลย มีแต่จะปรับราคาเพิ่มขึ้น

“ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ราคากาแฟผงสำเร็จรูปที่จำหน่ายในตลาดปรับขึ้นราคามาโดยตลอด 2-3 เดือนขึ้นที การขึ้นราคาไม่สามารถปรับขึ้นมาทีละมาก ๆ ได้เพราะ จะทำให้ตลาดช็อก ลูกค้าตกใจ แต่รวม ๆ แล้วในปีที่ผ่านมาก็ปรับขึ้นราคาไปแยะมาก ปรากฏการณ์นี้ยังเกิดขึ้นกับการปรับราคาจำหน่ายกาแฟแก้วด้วย ทุกคนต้องปรับขึ้นราคากาแฟเพราะวัตถุดิบพื้นฐาน (เมล็ดกาแฟคั่ว) มันขึ้น ซึ่งไม่ได้ขึ้นนิดเดียว แต่ขึ้นมาก

ดังนั้นร้านที่ขายกาแฟเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องมีการเพิ่มเมนูเครื่องดื่มผสมกาแฟที่หลากหลายขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง ด้านผู้ค้า (โรงคั่ว) เองก็ต้องบริหารจัดการความเสี่ยงในการซื้อกาแฟเข้ามาสต๊อก เนื่องจากต้องใช้เงินซื้อของมาสต๊อกมากกว่า 1 เท่าของราคาปีที่ผ่านมา

โรงคั่วรายใหญ่อาจจะมีกำลังสต๊อกได้มากกว่ารายกลางและรายเล็ก ครั้นจะไม่ซื้อกาแฟมาสต๊อกเลยก็ไม่ได้เพราะของจะขาด ไม่มีให้ซื้อในตลาด ของแพงก็สู้ของขาดไม่ได้ ต้องบริหารจัดการจังหวะการซื้อและราคาให้ดี ต้องมองตลาดออก ไม่อย่างนั้นก็จะผิดพลาดถึงขั้นปิดกิจการเหมือนกับเทรดเดอร์กาแฟรายใหญ่ ๆ ของโลกก็มีปิดไปแล้วเหมือนกัน” น.ส.วินิดากล่าว

ส่วนสถานการณ์ราคากาแฟในอนาคต น.ส.วินิดากล่าวว่า คาดการณ์ได้ยากมาก หลายบริษัทคาดการณ์ราคาเมล็ดกาแฟจะลดลง จากไซเคิลผลผลิตกาแฟที่จะเพิ่มขึ้น แต่ก็อาจจะผิดพลาดได้ เพราะอย่างปีที่ผ่านมาก็คาดการณ์ราคาเมล็ดจะลง เพราะผลผลิตเพิ่มขึ้น เอาเข้าจริงก็หนาวนาน ฝนมาก เกิดฝนนอกฤดู ดอกกาแฟร่วงจากฝนชะ ผลผลิตกาแฟเสียหายมาก ราคาเมล็ดกาแฟจึงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานราคากาแฟพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยเมล็ดกาแฟอราบิก้าอยู่ที่ กก.ละ 9 เหรียญ โรบัสต้า กก.ละ 5.8 เหรียญ)

ชาวสวนยิ้ม กาแฟราคา 200 บาท

นายธนาสิทธิ์ สอนสุภา ผู้บริหารกาแฟแบรนด์ดัง “กาแฟลุงไข่” อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร เจ้าของรางวัล “สุดยอดกาแฟไทย” ปี 2564 กล่าวถึงภาพรวมของราคากาแฟที่สูงขึ้นมาก เกิดจาก 1) ประเทศบราซิล ผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่ของโลก พื้นที่ปลูกประสบภัยพิบัติ มีผลผลิตกาแฟน้อยลง

2) ประเทศเวียดนาม ผลผลิตกาแฟก็ลดลงจากชาวสวนกาแฟหันไปปลูกทุเรียน ที่มีราคาดีกว่าราคากาแฟ ซึ่งเหมือนกับสถานการณ์การปลูกกาแฟในจังหวัดชุมพร ขณะนี้ที่ชาวสวนกาแฟหันไปปลูกทุเรียนกันมากขึ้น

ขณะที่นายปิยะ หนูสุด ผู้จัดการสหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟจังหวัดชุมพร กล่าวว่า สหกรณ์รับซื้อกาแฟสารจากชาวสวนกาแฟใน กก.ละ 205 บาท เพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟคั่วจำหน่ายอยู่ที่ กก.ละ 360 บาท ภายใต้แบรนด์ “กาแฟชุมพร” กับ “กาแฟสหกรณ์” โดยชาวสวนมีต้นทุนการปลูกกาแฟประมาณ กก.ละ 105 บาท ปัจจุบันจังหวัดชุมพรมีพื้นที่ปลูกกาแฟประมาณ 60,000 ไร่ มีผลผลิตเฉลี่ยปีละ 2,700-2,800 ตัน โดยกาแฟทั้งหมดเป็นพันธุ์โรบัสต้า

พันธุ์ไทย-อเมซอนยังไม่ขึ้นราคา

นายรังสรรค์ พวงปราง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการเงินและความยั่งยืน บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG กล่าวว่า ร้านกาแฟพันธุ์ไทยใช้เมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพสูง ทำให้ต้นทุนค่อนข้างสูงขึ้น เมื่อเทียบกับแบรนด์กาแฟระดับเดียวกัน

แต่เนื่องจากการซื้อขายเมล็ดกาแฟของ PTG มีการทำสัญญา 6 เดือนหรือครึ่งปีจนถึงเดือนมิถุนายน จึงใช้วัตถุดิบในราคาเดิม ดังนั้นเมื่อเทียบกับจำนวนแก้วต่อ กก. พบว่ากระทบต่อต้นทุนไม่มาก “เราจึงยังไม่มองเป็นความเสี่ยงที่จะปรับราคาจำหน่ายกาแฟต่อแก้วในร้านเพิ่มขึ้น”

“การปรับขึ้นราคาเมล็ดกาแฟในตลาดโลกที่สูงขึ้น คาดว่าจะเป็นช่วงสั้น ๆ ดังนั้นทุกเจ้าที่จำหน่ายกาแฟคงจะ Operate ราคาในส่วนนี้ไปได้จนถึงสิ้นปี ในช่วง 6 เดือนหลังที่คาดว่าราคาเมล็ดกาแฟจะลง เราก็จะต้องกลับมาพิจารณาทิศทางราคาเมล็ดกาแฟกันอีกครั้ง แต่เราจะไม่ทำสัญญา (Contract) ในระยะยาวมาก คงต้องดูสถานการณ์จากผู้ค้ารายอื่น ๆ ด้วย

ปัจจุบันร้านกาแฟพันธุ์ไทยไม่มีโรงคั่วเป็นของตัวเอง แต่มีคู่ค้าที่เป็นโรงคั่วดำเนินการให้ 2-3 แห่ง ขณะที่มีร้านกาแฟพันธุ์ไทยประมาณ 1,400 สาขาทั่วประเทศ อย่างน้อยจึงต้องใช้เมล็ดกาแฟประมาณ 1,400 ตันต่อปี (สาขาละ 1 ตัน)” นายรังสรรค์กล่าว

ทั้งนี้ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการปี 2567 ในส่วนรายได้ของธุรกิจกาแฟเติบโต 82.6% จากปีก่อน 2,266 ล้านบาท จากการขยายสาขาเพิ่ม 465 สาขา จาก 882 สาขา ด้านกำไรของธุรกิจกาแฟเพิ่มขึ้น 80.2% เป็น 1,204 ล้านบาท ตามปริมาณการจำหน่ายกาแฟที่เพิ่มขึ้น

ได้สำรวจร้านกาแฟแบรนด์ “คาเฟ่ อเมซอน” ของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งมีโรงคั่วกาแฟเป็นของตนเอง พบว่ายังไม่มีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายเครื่องดื่มกาแฟ หลังจากที่ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีการแจ้งปรับราคาสินค้าในกลุ่ม Raw Material จำนวน 4 รายการ ที่จำหน่ายให้กับทางร้าน ได้แก่ กาแฟเบลนด์ และผงโกโก้

ส่วนร้านกาแฟแบรนด์ดังเจ้าอื่น ๆ บางแบรนด์มีการปรับขึ้นราคากาแฟหลายวิธีการ อาทิ การขึ้นราคาแฟรนไชส์ ไปจนถึงการปรับปรุงร้าน พร้อมกับตั้งราคาจำหน่ายกาแฟราคาใหม่ในหลาย ๆ เมนู หรือเพิ่มเมนูใหม่ ๆ อาทิ กาแฟผสมหลากหลายรสชาติ เพื่อลดต้นทุนเมล็ดกาแฟคั่วที่ปรับราคาสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/economy/news-1777887