25 February 25 กรุงเทพธุรกิจ by Kanokkan
กระแส “ชาไทย” หรือ “ชาเย็น” โตแรงเพิ่มขึ้นทุกปีไม่มีหยุด จากที่เราคุ้นชินกับภาพของชาสีส้มพร้อมถุงกรองชาตามรถเข็นคุณลุงแก้วละ 25-30 บาท หลายปีมานี้ชาไทยถูกยกระดับให้มีความพิเศษเพิ่มขึ้นไปอีก จากรูปแบบเดิมสู่การเกิดขึ้นของ “ชาไทยพิเศษ” หรือชาไทยสเปเชียล ที่เคล้าไปด้วยความละเมียดละไมในการคัดสรรกลิ่น-รส คล้ายกับตลาดกาแฟพิเศษที่ผู้บริโภคสามารถเลือกเมล็ดกาแฟได้ตามความชอบ
ข้อมูลจาก “ไลน์แมน วงใน” (LINE MAN Wongnai) ระบุว่า ปี 2565 คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้อุตสาหกรรมชาขยายตัวในเชิงโครงสร้างมากขึ้น ทั้งคุณภาพ ความหลากหลายของแหล่งปลูกชา รวมถึงกำลังการผลิต ส่งผลให้ประเทศไทยอยู่ในฐานะตลาดค้าชาที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก “ชาไทย” จึงเป็นที่ต้องการอย่างมากทั้งในไทย และต่างประเทศ
“แพร-มิญชยา บูรณะเศรษฐกุล” เจ้าของร้าน “KHIRI Thai Tea” ร้านชาไทยพิเศษเจ้าแรกในไทย เปิดเผยว่า เธอรักการดื่มชาไทยตั้งแต่เด็กๆ เคยมีประสบการณ์ทำร้านกาแฟมาก่อน แต่เพราะสถานการณ์ระหว่างเกิดโรคระบาด ทำให้เธอได้อยู่ท่ามกลางอุตสาหกรรมชาในฐานะผู้ประกอบการ “มิญชยา” มองว่า เมนูชาไทยในคาเฟ่มีความหลากหลายน้อยกว่ากาแฟที่เลือกได้ทั้งเมล็ด กลิ่น รส คงจะดีเหมือนกันถ้าคนรักชาได้เลือกใบชาอย่างที่ตัวเองชอบ นั่นจึงเป็นที่มาของร้าน “KHIRI Thai Tea”
ชาไทยก็เลือกกลิ่น-รสได้ อยากกินแบบเชียงราย ลำพูน หรือปัตตานี มีให้หมด
แรกเริ่มเดิมที “มิญชยา” คลุกคลีกับธุรกิจร้านกาแฟมาก่อน แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ เมื่อทุกร้านค้าต้องปิดลงชั่วคราวเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรจึงอยู่ในภาวะ “Over-supply” เพราะไม่มีคนรับซื้อ เมื่อขายไม่ได้เกษตรกรก็ต้องดัมป์ราคาให้ถูกลง ทำให้กลุ่มผู้ปลูกเมล็ดกาแฟมองหาพืชชนิดอื่นๆ ทดแทนรายได้จนมาเจอกับใบชา
เจ้าของร้าน “KHIRI Thai Tea” บอกว่า ซัพพลายเออร์เกษตรกรที่ผูกปิ่นโตกันมาเริ่มแนะนำให้เธอปลูกชาคู่ขนานกันไป ข้อดีของชา คือ สามารถปลูกในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับกาแฟได้ อีกทั้งยังสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปีไม่เกี่ยงฤดูกาล ในช่วงทดสอบรสชาติ “มิญชยา” เกิดไอเดียอยากปรับแต่งใบชาเผื่อว่าในอนาคตจะต่อยอดเป็นธุรกิจได้ บวกกับความชอบดื่มชาของตนเป็นทุนเดิม
ความแตกต่างของกาแฟ และชาเย็นหรือชาไทยในขณะนั้น คือ ความหลากหลายที่มีให้เลือกน้อยกว่า เมนูกาแฟมีให้เลือกตั้งแต่คั่วเข้ม คั่วกลาง คั่วอ่อน ขณะที่ชาไทยกลับถูกล็อกสเปกไว้เพียงเมนูเดียว เธอจึงคิดว่า คงดีไม่น้อยหากมีร้านชาไทยที่ลูกค้าจิ้มเลือกใบชา ความเข้มข้นของชา และ “Taste Note” ได้
“เราปลูกในแหล่งแต่ละจังหวัดตามชื่อที่ตั้ง แหล่งชาที่ดีที่สุดอยู่ที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่สูงขั้นบันได มีความชื้นพอเหมาะที่จะได้ชารสชาติที่ดี ซึ่งส่วนใหญ่เขาจะปลูกพวกผลไม้ตระกูลเบอร์รี่หรือดอกไม้ที่มีกลิ่นฉุนหน่อย พวกนี้จะส่งผลให้ใบชาออกมารสชาติตามนั้น เวลาผึ้งผสมเกสรดอกไม้ก็จะผสมจากต้นไม้ใกล้เคียงที่ปลูก อาจจะมีสตรอว์เบอร์รี มัลเบอร์รี่ ลูกพรุน ฯลฯ ตัวดิน และตัวเกสรจากพืชเหล่านั้นจะทำให้ใบชามีรสชาติต่างกัน”
ในบรรดาทุกพื้นที่ “มิญชยา” บอกว่า “เชียงราย” ให้ผลผลิตได้มากที่สุด แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการอยู่ดี เนื่องจากเกษตรกรกลุ่มนี้ไม่ได้เริ่มจากการปลูกชาเป็นอย่างแรก ซึ่งตอนนั้นร้านของเธอเป็นคู่ค้าเพียงรายเดียว เกษตรกรจึงยังไม่กล้าลงแรง-ลงทุนมากนัก
แต่หลังจากมีการปรึกษาหารือกันก็ได้ข้อสรุปออกมาว่า เกษตรกรที่จังหวัดเชียงราย จะกระจายต้นกล้าใบชาไปยังเครือข่ายเกษตรกรจังหวัดอื่นๆ จากนั้นจะนำใบชาที่ได้กลับมาผ่านกระบวนการที่เชียงรายเป็นขั้นตอนสุดท้าย เป็นที่มาของชนิดใบชาที่หลากหลายในร้าน “KHIRI Thai Tea” จนถึงปัจจุบัน
“มิญชยา” เลือก “ปัตตานี” เป็นพื้นที่ปลูกใบชานอกจังหวัดเชียงราย แห่งแรก เหตุผล คือ บริเวณดังกล่าวมีการปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้ามาก่อน มองว่า ถ้าปลูกกาแฟโรบัสต้าได้ก็น่าจะปลูกชาได้ไม่ยาก เมื่อทดลองปลูกในดินเดียวกันก็พบผลลัพธ์ต่างออกไป ชาที่ได้จากดินปัตตานีจะมีรสติดขมปนฝาด ผสมกับกลิ่นหอมเนยถั่ว และลูกสนเคล้ากัน และเมื่อขนส่งกลับมาที่เชียงราย ทีมพัฒนาจะปรับปรุงให้รสชาติเข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น
ญี่ปุ่นมีชาเขียว จีนมีชานม ไทยมี “ชาไทย”
ร้าน “KHIRI Thai Tea” ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีตั้งแต่ช่วงแรกๆ เจ้าของร้านบอกว่า ปี 2566 เป็นช่วงที่กระแส “Café Hopping” กำลังมาแรง ซึ่งคาเฟ่ในไทยส่วนใหญ่จะมีกาแฟเป็นเมนูพระเอก ขณะที่คาเฟ่ต่างแดนมีเมนูซิกเนเจอร์ของประเทศนั้นๆ เป็นตัวชูโรง เช่น ญี่ปุ่นมีคาเฟ่ชาเขียว จีนมีคาเฟ่ชานม แต่เพราะเหตุใดบ้านเราจึงไม่มีคาเฟ่ชาไทยซึ่งเป็นเครื่องดื่มแบบ “Thailand Only” บ้าง
“มิญชยา” ต่อเติมไอเดียร้านคาเฟ่ชาไทยจากความสงสัยใคร่รู้ จนได้ฤกษ์เปิดสาขาแฟล็กชิปสโตร์ ย่านเยาวราช เป็นแห่งแรก ไม่นานก็ได้มีโอกาสเข้ามาชิมลางที่ศูนย์การค้าใจกลางเมือง ซึ่งก็พบว่า มีลูกค้าชาวต่างชาติแวะเวียนมาชิมเป็นประจำ โดยเฉพาะฝั่งจีน และยุโรปที่ชื่นชอบมาก เธอมองว่า ตลาดชาไทยน่าจะโตได้อีกยาว และ ไม่ได้จบแค่หมวดเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ยังขยายไปยังตลาดเบเกอรี หรือในอนาคตอาจจะหยิบจับชาไทยแปลงร่างสู่ของคาวก็ได้เช่นกัน
ปัจจุบัน “KHIRI Thai Tea” มีอยู่ 3 สาขา และปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 3 สาขา มีคนติดต่อเข้ามาขอซื้อแฟรนไชส์ทั้งต่างจังหวัด และต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เธอบอกว่า ต่างประเทศมีหลากหลายมากตั้งแต่มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐ มาครบแทบทุกทวีปทั่วโลก แต่ด้วยความพร้อมของระบบหลังบ้านและทรัพยากรอื่นๆ ทำให้การขยายสาขาต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่อยากให้เกิดคำพูดที่ว่า กินสาขานี้อร่อยกว่าอีกสาขา หากจะขยายธุรกิจทุกที่ต้องไปด้วยมาตรฐานเดียวกัน
มีร้านชาไทยเปิดใหม่ 205% โตกว่ากาแฟ ปีที่แล้วคนไทยกินไปแล้ว “4 แสนแก้ว”
ตลาดชาไทยยังโตได้อีกไกลควบคู่ไปกับการเติบโตของชาไทยพิเศษ จากฐานข้อมูลของ “ไลน์แมน วงใน” พบว่า ระหว่างปี 2565-2567 การเติบโตของชาไทยพิเศษเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีร้านชาไทยพิเศษเปิดใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 205% สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจการเลือกชาไทยคุณภาพสูงมากขึ้น
เฉพาะปีที่แล้วมียอดสั่งซื้อชาไทยพิเศษผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรีไลน์แมนรวมกันมากถึง “4 แสนแก้ว” โตขึ้น 81% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยปี 2566 มียอดสั่งซื้อราวๆ “2 แสนแก้ว” ปี 2565 “1 แสนแก้ว” และปี 2564 อยู่ที่ “8-9 หมื่นแก้ว” ส่วนพื้นที่ที่มีร้านชาไทยพิเศษมากที่สุดยังตกเป็นของ “กรุงเทพฯ” คิดเป็นสัดส่วน 46% ของร้านชาไทยพิเศษทั้งหมดประเทศ ตามมาด้วย “นนทบุรี” และ “ชลบุรี”
อย่างไรก็ตาม ในภาพใหญ่ของตลาดสเปเชียลตีหรือเครื่องดื่มพิเศษ “กาแฟ” ยังเป็นผู้นำตลาดในแง่จำนวน ส่วนชาไทยมีการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และน่าจับตามอง หากเทียบเคียงสัดส่วนในช่วง 3 ปีก่อนหน้า พบว่า ยอดสั่งซื้อชาไทยพิเศษโตขึ้นกว่า 3.3 เท่า ขณะที่กาแฟพิเศษเติบโตราวๆ 2.7 เท่า
น่าสนใจว่า หลังจากนี้ตลาดชาไทยจะยืนระยะความป๊อปปูลาร์ได้อีกไกลแค่ไหน เพราะนอกจากชาไทย เร็วๆ นี้ “มัทฉะ” หรือ “ชาเขียว” ก็โตแรงจนของขาดตลาด เกิดภาวะกักตุน-รีเซลผงมัทฉะ พร้อมราคาขายเกรดพรีเมียมที่กระโดดแรงไปไกลถึงแก้วละ 250-300 บาท ก็มีให้เห็นเช่นกัน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1168138
