A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

NEWS

    

จบยุค ‘กาแฟแก้วละร้อย’ ? คนไทยเริ่มประหยัด ซื้อ 60-80 บาท/แก้ว ของแพงนานๆ ทีค่อยกิน

“กาแฟ"

กาแฟก็เจอพิษเศรษฐกิจ! อุปนายกฯ กาแฟพิเศษ ชี้ คนไทยหันกินกาแฟถูกลง บางร้านยอดขายทะยานเกิน 100% พบ เทรนด์ “Self-Indulgence” มาแรง เริ่มปันใจลองเทรนด์ใหม่แทนการทุ่มเงินซื้อกาแฟแพง มอง “1:2 Coffee” จุดประกายตลาดกาแฟต่ำร้อยคึกคัก

ไม่เพียงเชนกาแฟพรีเมียมเงือกเขียวที่กำลังเจอศึกหนักจากยอดขายที่ลดลง แต่ตลาดกาแฟในไทยก็กำลังถูกฉายภาพในลักษณะใกล้เคียงกัน โดยพบว่า ขณะนี้เซกเมนต์ที่คึกคัก-น่าจับตามองเป็นพิเศษ ได้แก่ กาแฟราคา “ต่ำร้อย” ส่วนกาแฟแก้วละร้อยบาทขึ้นไปถูกจัดวางให้อยู่ในวาระโอกาสพิเศษ นานๆ กินทีเพื่อเป็นรางวัลให้ตัวเองก็เพียงพอแล้ว

“กรณ์ สงวนแก้ว” อุปนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย และผู้เจ้าของร้านกาแฟ “Roots” ให้ข้อมูลภายในงานแถลงข่าวเทศกาลกาแฟ “Thailand Coffee Fest ‘Year End’ 2024” ว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจหดตัว ทำให้กำลังซื้อหดตัวตามไปด้วย

สำหรับอุตสาหกรรมอาหารเองก็พบว่า เติบโตน้อยกว่าปีก่อนๆ ปีอื่นอาจจะโตสัก 3-4% ปีนี้โตขึ้นราวๆ 1% เท่านั้น ทว่า กลับมีข้อสังเกตในเซกเมนต์ตลาดกาแฟเกิดขึ้น โดยพบว่า ปีนี้ร้านกาแฟที่มีราคาขาย “ต่ำร้อย” เติบโตขึ้นมาก บางร้านโต 60% บางร้านโตทะลุ 100% ก็มี

สาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงล้อไปกับภาวะเศรษฐกิจ จากที่เคยกินกาแฟแก้วละร้อยทุกวันก็อาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว คนเริ่มหันไปเลือกซื้อกาแฟราคาต่ำร้อยในช่วงราคา 60 ถึง 80 บาทแทน ราคาหลักร้อยบาทไว้กินสำหรับโอกาสพิเศษหรือให้รางวัลตัวเองนานๆ ครั้งก็พอ

“กรณ์” ระบุว่า ตนเองมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ “แกร็บ” (Grab) แอปพลิเคชันเดลิเวอรีที่เป็นพาร์ทเนอร์ทางการค้า พบว่า คนที่กินกาแฟแก้วละร้อยเริ่มหันไปกินกาแฟราคาถูกลงมากขึ้นเรื่อยๆ กับอีกส่วน คือยอดการใช้จ่ายต่อบิลลดลง จากเดิม 250 บาทต่อครั้ง ตอนนี้ลดลงไปอยู่ที่หลักร้อยต้นๆ จนถึง 150 บาทต่อครั้ง

แต่ถึงอย่างนั้นตลาดก็ไม่ได้หดตัวตามยอดการใช้จ่ายที่ลดลง เนื่องจากพฤติกรรมเปลี่ยนจากการซื้อกาแฟราคาจัดเต็มไปเป็นการกินกาแฟราคาพอประมาณ บวกกับเลือกซื้อของกินตามเทรนด์มากขึ้น หรือที่เรียกว่า “Self-Indulgence” จ่ายเพื่อความสุข-ความรื่นรมย์ของตัวเอง เช่น ลองกินสมูทตี้แก้วละ 300 บาท หรือซื้อช็อกโกแลตดูไบตามกระแส

“คนหันมานิยมกาแฟราคาต่ำร้อยตามสภาพเศรษฐกิจ เริ่มประหยัดมากขึ้น บิลอาหารที่สั่งผ่านเดลิเวอรีก็เล็กกว่าปี 2565 หลักๆ มาจากปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยน ถ้ามองภาพอุตสาหกรรมอาหารทั้งหมดจะพบว่า การสั่งซื้อแบบเดลิเวอีลดลงด้วย แต่ “Indulgence” กลับถี่ขึ้น จากที่ไม่เคยกินช็อกโกแลตดูไบเลย ไหนลองกินหน่อย ไม่เคยลองสมูทตี้ก็ขอกินบ้าง”

ส่วนราคากาแฟที่ยังมีการปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ “กรณ์” บอกว่า มาจากสาเหตุเดิม คือราคาเมล็ดกาแฟที่แพงขึ้น ก่อนหน้านี้เคยแพงถึงขีดสุดระลอกหนึ่ง จากนั้นก็ปรับตัวถูกลงมา กระทั่งตอนนี้เริ่มกลับสู่ลูปแพงขึ้นอีกครั้งเนื่องจากผลผลิตน้อยลงกว่าคาดการณ์

“กรณ์” ระบุว่า ตอนนี้ราคาเมล็ดกาแฟโลกสูงขึ้น 74.3% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อนหน้า ปัจจัยหลักมาจากโลกร้อน สภาพอากาศเปลี่ยน พอผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง “บราซิล” และ “เวียดนาม” เริ่มส่งสัญญาณว่า ผลิตได้น้อยลง ราคาก็เริ่มไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับตลาดโกโก้ที่ตอนนี้ต้นทุนสูงขึ้นเกือบสองเท่าด้วยสาเหตุเดียวกัน

นอกจากนี้ ราคาเมล็ดกาแฟนำเข้ายังต้องเจอกับ “กำแพงภาษี” ที่สูงถึง 90% สมมติ ซื้อกาแฟกี่โลละ 100 บาท รวมภาษี 90% บวกกับภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ “vat” อีก 7% และต้นทุนค่าขนส่งสินค้า จะเท่ากับว่า กาแฟ 1 กิโลกรัม มีต้นทุนรวมมากถึง 200 บาท เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากราคาซื้อขายเดิม ส่วนเมล็ดกาแฟที่ปลูกในไทยก็ไม่ได้มีปริมาณมากพอที่จะเข้ามาปิดช่องโหว่ได้ทั้งตลาด

เมื่อถามว่า บรรยากาศตอนนี้มีร้านไหนที่น่าจับตามองมากเป็นพิเศษ อุปนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย บอกว่า “1:2 Coffee” ค่อนข้างคึกคัก อาจเรียกได้ว่า เป็นร้านที่จุดประกายให้กาแฟต่ำร้อยมีบทบาทมากขึ้นเลยก็ได้

ส่วนในภาพรวมหากถามว่า ตอนนี้ร้านกาแฟในกรุงเทพฯ ถึงจุดอิ่มตัวแล้วหรือยัง “กรณ์” บอกว่า ตนเห็นทั้งร้านเปิดและปิดใหม่ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นบรรยากาศที่เกิดขึ้นและดำเนินมาแบบนี้ราวๆ 5 ปีได้แล้ว ร้านกาแฟปิดตัวจึงไม่ใช่เทรนด์ใหม่แต่อย่างใด

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1154969