A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

NEWS

    

avocado (อะโวคาโด) Superfood ของโลก ทำไมราคาสูง

“อะโวคาโด"

บ้านเราในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ผลไม้กึ่งผักที่มาแรงในตลาด ไม่ว่าไปที่ไหนก็จะพบเห็นและมีราคาสูงนั่นก็คือ avocado (อะโวคาโด) มันมีที่มาอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร ทำไมจึงมีราคาสูงเเละมีข้อเสียบ้างหรือไม่

อะโวคาโดมีหลายรูปลักษณ์เพราะมีนับร้อยพันธุ์ แต่ที่ปลูกและบริโภคกันนั้นมีไม่กี่ชนิดคล้ายกับมะม่วง อะโวคาโดบ้างก็กลม บ้างก็รี บ้างก็ยาวคล้ายแตงกวา

ที่มาของชื่อนั้นถ้าเล่าไปแล้วบางท่านที่บริโภคอาจรู้สึกเขิน avocado ในภาษาอังกฤษมาจากภาษาสเปนว่า aguacate โดยมาจากภาษาพื้นเมืองของชาว Aztec อีกที ซึ่งหมายถึง “อัณฑะ” เข้าใจว่าเนื่องจากมันห้อยลงมาจากกิ่งโดยมีก้านยาวและบ่อยครั้งที่ห้อยเป็นคู่ นับว่าจินตนาการของชาวพื้นเมืองใช้ได้เลย

ชาวพื้นเมืองรู้จักอะโวคาโดมานับพันปี มีการพบฟอสซิลในบริเวณตอนกลางและใต้ของเม็กซิโกว่ามีอายุนับล้านปี

นอกจากนี้มีหลักฐานว่ามนุษย์นำมาปลูกเป็นอาหารเมื่อประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล หรือเมื่อประมาณ 2,500 ปีก่อน ผู้คนในวัฒนธรรมอเมริกากลางไม่ว่า Olmec (ประมาณ 1,200-400 ก่อนคริสตกาล) หรือ Maya (2,000 ปีก่อนคริสตกาล ถึง ค.ศ. 1700) หรือ Aztec (ค.ศ. 1300-1520) ฯลฯ ล้วนบริโภคอะโวคาโดเป็นอาหาร

จุดเปลี่ยนของมันคือเมื่อคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เดินทางไปบริเวณอเมริกากลาง (คนไทยเหมารวมเรียกส่วนนี้ว่าเป็นอเมริกาใต้ด้วย) เมื่อศตวรรษที่ 16 อันนำไปสู่การล่มสลายของหลายวัฒนธรรมของคนพื้นเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาณาจักร Aztec

และเมื่อพวกรุกรานเหล่านี้เดินทางกลับก็นำเอาพืชหลายอย่างของทวีปอเมริกา (โลกใหม่) ติดตัวไปยุโรปและแพร่หลายไปเอเชียในเวลาต่อมา เช่น พริก ข้าวโพด มันฝรั่ง มะเขือเทศ มันเทศ สับปะรด ลฯล และอะโวคาโด

อย่างไรก็ดี อะโวคาโดไม่เป็นที่นิยมเหมือนพืชอื่น ๆ มันเริ่มเป็นที่รู้จ้กเมื่อเดินทางไปถึงสหรัฐอเมริกาในต้นศตวรรษที่ 19 และรู้จักกว้างขวางขึ้นในต้นศตวรรษที่ 20 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นประมาณกลางศตวรรษที่ 20 เมื่อมีการพัฒนาการขนส่งและการแช่เย็น จึงเป็นที่นิยมมากขึ้นและแพร่กระจายไปยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย

อะโวคาโดฮิตมากขึ้นทุกทีในทศวรรษ 1990 และ 2000 อันเป็นผลจากการตลาดซึ่งสอดคล้องกับการพุ่งขึ้นของรสนิยมบริโภคอาหารสุขภาพของชาวโลก

อะโวคาโดกินสดก็ได้ แต่ที่นิยมคือเอามาปั่นกับนมและน้ำเเข็งเป็นสมูทตี้ หรือเอามาบดให้เละใส่มะนาว เกลือผสมกันเป็นเครื่องจิ้มหรือdip กินกับแผ่นมันฝรั่งทอด หรือเอา dip ไปทาขนมปังปิ้ง ในสหรัฐอเมริกาการเอามาทำเป็น dip นั้นเป็นที่นิยมอย่างมาก

อะโวคาโดมันมีดีอะไรหนักหนา ผู้คนถึงบ้าคลั่งกันทั้งโลก

คำตอบอยู่ที่การอุดมด้วยสารอาหาร ใน 100 กรัมของอะโวคาโดมีไขมันมากถึง 15% โดยเป็นไขมันดีที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ กล่าวคือ เป็น ไขันประเภท monounsaturated และ polyunsaturated มีคาร์โบไฮเดรต 9% มีโปรตีน 2% มีเส้นใยอาหาร 7% และมีน้ำตาลเพียงไม่ถึง 1%

นอกจากนี้ยังมีวิตามิน K / B9 / B6 / B3 / B5 / B2 / สาร niacin ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสุขภาพในหลายด้าน / สาร lutein สนับสนุนสุขภาพตา / เบตาเคโรตีน ต้านอนุมูลอิสสระ เเละกรดไขมัน omega-3 ซึ่งสนับสนุนสุขภาพหัวใจ ฯลฯ

กล่าวโดยสรุปอะโวคาโดมีสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมาก โดยเฉพาะต่อสุขภาพหัวใจ สุขภาพตา การควบคุมระดับคอเลสตอรอลในร่างกาย ลดการอักเสบในร่างกายและมีสารต้านอนุมูลอิสระ น้ำหนัก 100 กรัมหรือครึ่งลูกให้พลังงานประมาณ 160 แคลลอรี่

อะโวคาโดมีหลายพันธุ์ที่มีการนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ ที่นิยมและบริโภคกันมากสุดในโลกในปัจจุบันคือพันธุ์ Hass ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยคนอเมริกันในปี 1935 เนื่องจากมีรสชาติดี มีไขมันมากกว่าพันธุ์อื่น ๆ ออกลูกดี ทนความหนาวได้

Hass มีรูปร่างเเละขนาดคล้ายไข่ไก่ ผิวขรุขระสีเขียวแก่ ส่วนพันธุ์อื่นในบ้านเราได้แก่ พันธุ์ปีเตอร์สัน / รูเฮิล / บัคคาเนียร์ / บูธ 7 เเละ8 / ฮอลล์ ฯลฯ

กรมส่งเสริมการเกษตรบ้านเราได้ทดลองเพาะพันธุ์มาหลายปีโดยร่วมงานกับโครงการหลวงและหลายหน่วยงาน จนได้ผลเเละมีการปลูกกันไปทั่วโดยเฉพาะในบริเวณที่ราบ พื้นที่สูง ตราบที่ไม่มี น้ำขัง น้ำถึง ดินระบายน้ำดีไม่ชื้นแฉะและมีแดดดี อะโวคาโดเป็นไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 18 เมตร รากตื้น แต่ขยายร่มใบไปไกลถึง 5-7 เมตรโดยรอบ

อะโวคาโดผลิตโดยเม็กซิโกมากสุดเชิงปริมาณในโลก คือประมาณ 33-35% รองมาก็เป็นโดมินิกัน 10% โคลัมเบีย ชิลี โดมินิกันรวมกันกว่า 20% สหรัฐอเมริกาผลิตมากในรัฐแคลิฟอร์เนีย และฟลอริดารวมประมาณ 5% ประเทศอื่น ๆ ได้แก่ อาฟริกาใต้ สเปน อิสราเอล เคนยา ชิลี ฯลฯ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากไทยก็มีเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งรวมกันแล้วเป็นเพียง 2% ของผลผลิตโลก

เหตุที่อะโวคาโดแพงถึงกิโลละ 80-120 บาทสำหรับผลผลิตในบ้าน และอาจถึง 200 กว่าบาท หากนำเข้าก็เพราะมีอายุสั้นเพียง 2-3 วัน หลังจากสุก เวลาเก็บต้องใช้แรงงานมาก เลือกเก็บเฉพาะลูกแก่ และนำมาไว้นอกต้นอีก 1-2 อาทิตย์ (ผลกลายเป็นสีดำ)

เมื่อสุกแล้วก็มีอายุสั้น หากเก็บไว้ตู้เย็นอาจยืดออกไปได้ 2-3 วัน เมื่อความต้องการในโลกมีสูงมากอย่างที่การผลิตไล่ตามไม่ทัน แรงกดดันราคาจึงสูง นอกจากนี้แหล่งผลิตอยู่ไกลถึงอเมริกากลาง จึงมีต้นทุนขนส่งและการแช่เย็นที่สูง ลูกออกเป็นฤดูกาล มักออกสลับสระหว่างดกกับไม่ดก

ถึงอะโวคาโดมีข้อดีมากมายแต่ก็มีข้อเสียต่อสิ่งแวดล้อม เพราะมันใช้น้ำมากในการปลูก มีการคำนวณว่าในการปลูกหนึ่งลูกใช้น้ำถึง 300 ลิตรโดยคำนวณตั้งแต่เริ่มปลูกจนเป็นลูก ในอเมริกากลางบางประเทศมีการทำลายป่าเพื่อเอามาปลูกจนเป็นปัญหา

อะโวคาโดเดินทางยาวไกลจากการเป็นอาหารของชาวพื้นเมืองในอเมริกากลางเป็นเวลานับพัน ๆ ปี มาสู่การเป็น superfood ของชาวโลกในปัจจุบัน หากคิดไปแล้วเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มาก มีผลไม้หรือผักอื่นใดที่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อสุขภาพเหมือนอะโวคาโดบ้าง

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1149618