A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

NEWS

    

ถอดสูตรสำเร็จ “โทโร่ฟรายส์” ที่สู้แบรนด์ยักษ์ใหญ่ ได้สำเร็จในหลายทำเล!

“โทโร่ฟรายส์"

ถอดสูตรวิธีบริหารแบรนด์ โทโร่ฟรายส์ (TORO FRIES) “เฟรนช์ฟรายส์” มุ่งนำเสนอสินค้าในทรงแบบใหม่ จนทำให้แบรนด์ขึ้นแท่นสินค้ายอดนิยม กวาดการรีวิวจากชาวมาเลเซียในลำดับต้นๆ แซงหน้าแบรนด์ยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศได้สำเร็จ

สมรภูมิธุรกิจอาหารในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท แข่งขันกันอย่างรุนแรงจากทั้งแบรนด์ใหญ่และแบรนด์เล็ก โดยผู้ประกอบการขนาดใหญ่ อาจใช้แนวทางการการขยายธุรกิจให้เติบโตรวดเร็ว ด้วยการขยายสาขาใหม่จำนวนมากๆ เพื่อครองส่วนแบ่งการตลาด เพิ่มยอดขาย รวมถึงกำไร

สำหรับ “โทโร่ฟรายส์” (TORO FRIES) เป็นอีกแบรนด์ไทยเริ่มต้นจากศูนย์ เส้นทางธุรกิจได้ผ่านการเรียนรู้ ลองผิดลองถูกมาตลอด โดยที่ผ่านมาเคยใช้แนวทางการขยายสาขาใหม่อย่างรวดเร็ว จนค้นพบคำตอบว่า สาขาเยอะไม่ได้การันตีความสำเร็จเสมอไป แต่ทุกอย่างต้องมาจากการปรับระบบบริหารให้มีมาตรฐานที่ดี วางระบบหลังบ้านที่เข้มแข็ง สร้างเมนูที่ตรงใจลูกค้าทำให้สินค้าเป็นที่จดจำ เพื่อครองใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ยาวนาน

“ชานนท์ แสงมณี” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โทโร่ ฟรายส์ จำกัด กล่าวว่า โทโร่ฟลายส์ มองภาพรวมการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารมีความรุนแรงเสมอ โดยเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการทุกรายต้องเจอ ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องมุ่งพัฒนาแบรนด์ให้ดีขึ้นตลอดเวลา พร้อมปรับปรุงสินค้าและบริหารที่ดีให้แก่ลูกค้า มุ่งการวิเคราะห์ธุรกิจและยอดขายเสมอ ให้ความสำคัญกับการทำดาต้า เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาธุรกิจ

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ใช้แนวทางเข้าไปวิเคราะห์ยอดขายในแต่ละสาขา หากยอดขายลดลงต้องเข้าไปวิเคราะห์อินไซต์ หาสาเหตุให้เจอว่าเกิดจากอะไร ตั้งแต่ดูระบบว่าสูตรการทำอาหารมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ต่อมาหากสูตรเหมือนเดิม แต่ยอดขายไม่เพิ่ม ต้องไปวิเคราะห์สาเหตุเกิดการทำตลาดหรือไม่ อาจต้องทำแผนการตลาดกระตุ้นมากขึ้น เน้นช่องทางออนไลน์ เพื่อทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำของลูกค้า เฉพาะในทำเลที่ได้เปิดสาขา

ต่อมา หากปรับระบบหลังบ้านและใช้การวิเคราะห์ พร้อมปรับระบบต่างๆ ใหม่แล้ว ยอดขายยังไม่เพิ่มขึ้น อาจต้องใช้แนวทางการย้ายสาขาไปอยู่ในทำเลแห่งอื่นๆ แทน

แนวรุกต่อมาทำการตลาดผ่านออนไลน์อย่างเข้มข้น ทั้งการใช้โซเชียลมีเดีย ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในแต่ละทำเลที่ไปเปิดสาขา โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักจะเป็นคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่เจนซี ไปถึงเจนอัลฟ้า และกลุ่มนักท่องเที่ยว รวมถึงการใช้อินฟลูเอนเซอร์มาร่วมรีวิวสินค้าและใช้โซเชียลมีเดีย ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

“หากมองคู่แข่งโดยตรงในกลุ่ม เฟรนช์ฟรายส์ รูปแบบเดียวกันยังไม่มี แต่แบรนด์มีคู่แข่งทางอ้อม ที่มีฐานกลุ่มลูกค้าเดียวกัน ดังนั้นแบรนด์มุ่งมั่นคือ การพัฒนาตัวเอง ไม่หยุดเรียนรู้ มุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจ รวมถึงยังไปลงเรียนและอบรมหลักสูตรความรู้ต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ตลอดเวลา รวมถึงเข้าไปอบรมแฟรนไชส์กับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า”

ภาพรวมสาขาในปัจจุบันมีทั้งหมด 16 สาขา โดยบริษัทมีแผนรีโนเวทสาขาใหญ่ในทุก 3 ปี เพื่อทำให้แบรนด์มีความสดใหม่และสอดรับกับตลาดอยู่เสมอ ทั้งนี้มีสาขาที่สร้างยอดขายสูงคือ สาขาใน "ศูนย์การค้าไอคอนสยาม" และสาขาที่ "เซ็นทรัลหาดใหญ่" ซึ่งทั้งสองทำเลมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ไอคอนสยามมีขนาดสาขาประมาณ 18 ตร.ม. แม้ว่ามีขนาดสาขาที่ไม่ใหญ่แต่สร้างยอดขายสูงตลอดเวลา

"บริษัทได้เข้าไปติดต่อเปิดสาขาที่ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ในช่วงเกิดโควิด ที่ผู้ประกอบการไทยหลายรายชะลอลงทุน แต่ผู้ร่วมก่อตั้ง 4 คน มองเป้าหมายระยะยาวในการขยายทำเลที่มีศักยภาพ จึงสร้างผลตอบรับที่ดีมาก โดยสาขาทำเลแห่งนี้สร้างยอดขายได้สูงที่ 700 กล่องต่อวัน"

สำหรับสาขาที่สร้างยอดนิวไฮอีกแห่งคือ “ศูนย์การค้าเซ็นทรัลหาดใหญ่” มาจากการมีลูกค้าเคยมาทานสินค้าแล้วชื่นชอบ จึงนำไปเปิดธุรกิจรูปแบบแฟรนไชส์ โดยสาขาแห่งนี้ได้รับตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียสูง กลายเป็นแบรนด์ที่ชาวมาเลเซียแนะนำมาว่าหาดใหญ่ต้องมาที่ร้านนี้ และยังได้รับการรีวิวจากกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ของมาเลเซียอย่างต่อเนื่อง จึงกลายเป็นได้รับพลังของนักรีวิวมาช่วยทำการตลาดให้ โดยสาขาที่หาดใหญ่ สร้างยอดขายได้สูงถึง 800-900 กล่องต่อวัน

"เรามีเคยสาขาเยอะมากกว่านี้ แต่ค้นพบว่า ไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืนของธุรกิจ จึงปรับแผนใหม่ ปิดสาขาไปในบางทำเล วางระบบใหม่ เพื่อทำให้ธุรกิจแข่งขันได้ในระยะยาว"

สเต็ปต่อไปของธุรกิจคือ การไปเปิดสาขาในต่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างการเจรจาหลายทำเล ทั้งประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งบริษัทได้ไปร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศเสมอ เพื่อร่วมมือหาพาร์ทเนอร์ คาดว่าในอนาคตจะเห็นแบรนด์ไปปักหมุดสาขาได้อย่างเป็นทางการในรูปแบบแฟรนไชส์ อีกทั้งสนใจตลาดในอาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

นอกจากนี้เพื่อเตรียมรองรับการขยายสาขาไปในต่างประเทศ ทำให้มีแผนลงทุนขยายโรงงานเพิ่มเติม เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรฐานของ ฮาลาล รวมถึงเตรียมขยายเมนูใหม่ๆ รองรับการขยายธุรกิจ

“ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าลูกค้ามีอัตราการกลับมาซื้อสินค้าซ้ำสูง และลูกค้าจะบอกกันต่อปากต่อปาก สำหรับราคา เฟรนช์ฟรายส์ เริ่มต้นที่ 139 บาท โดยสาขาในเมืองท่องเที่ยว ยอดขายมาจากคนไทย 40% และต่างชาติ 60% ส่วนใหญ่ลูกค้ามียอดการซื้อต่อบิลประมาณ 150-160 บาท”

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1145930