19 September 24 กรุงเทพธุรกิจ by Kanokkan
ถอดรหัสความสำเร็จ แบรนด์ดัง ตำมั่ว - เขียง ทำอย่างไรให้เมนูอาหารที่ทุกคนรับประทานแทบทุกวัน กลายเป็นร้านดังยึดทำเลในหลายพื้นที่ ทั้งห้าง - ศูนย์การค้า
สมรภูมิธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยแข่งขันอยู่ในตลาด เรดโอเชียน ที่แข่งขันรุนแรง สะท้อนจากจำนวนร้านอาหารที่เปิดใหม่สูงมากในแต่ละปี ซึ่งมีการประเมินจากผู้ประกอบการร้านอาหารเชนรายใหญ่ว่ามีเปิดใหม่จำนวนมากกว่า 1 แสนร้านค้า แต่การอยู่รอดในธุรกิจอาหารไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากสามารถอยู่รอดเพียง 50% ในปีแรก ต่อมาเมื่อทำธุรกิจไปสามปีแล้ว โอกาสอยู่รอดยิ่งน้อยลง
แต่แบรนด์ร้านอาหารไทยกับ ตำมั่ว และเขียง สามารถวางกลยุทธ์ทำให้การนำเสนอเมนูประจำบ้านของทุกคนอย่าง ส้มตำ และผัดกะเพรา ที่ทุกคนคุ้นเคย กลายเป็นเมนูยอดนิยม และยืนหนึ่งในตลาดไทย ด้วยจำนวนสาขาที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน
นางสาวชนิดาภา กันทะวงศ์ ตัวแทนผู้ดูแลแฟรนไชส์ ร้านอาหารในเครือเซ็นกรุ๊ป แบรนด์ ตำมั่ว เขียง ลาวญวน AKA on the table กล่าวงานเสวนา “ถอดรหัสความสำเร็จ : บทเรียนจาก 2 แฟรนไชส์ ที่พลิกจากวิกฤติเป็นโอกาส” จัดโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าต่อภาพรวมการดำเนินธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย มีการแข่งขันรุนแรงมาก มีทั้งแบรนด์ที่เปิดใหม่ และแบรนด์ที่หายไปจากตลาด
สำหรับกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้บริษัทสามารถเติบโต และแข่งขันได้ระยะยาว มาจากองค์ประกอบทั้ง การวางมาตรฐานของสินค้าให้คงที่ การมีคุณภาพ และมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ การกำหนดแบรนด์โพสิชันนิงที่ชัดเจน เพื่อวางกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ในการทำตลาด
พร้อมเลือกเปิดสาขาใหม่ เน้นพิจารณาจากยอดทราฟฟิกในแต่ละทำเล รวมถึงการมุ่งนำเสนอสินค้าร้านให้สะอาด และใหม่เสมอ พร้อมมีโมเดลของสาขาที่หลากหลายร่วมเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้า
ทั้งหมดสะท้อนจากการเปิดสาขาเรือธงของบริษัท ทั้งร้านตำมั่ว ร้านส้มตำเปิดมาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปีแล้ว และมีสาขากว่า 100 สาขา อีกทั้งมุ่งนำเสนอรสชาติอาหารที่มีความจัดจ้าน คงเอกลักษณ์ของส้มตำไทย มุ่งทำเลในศูนย์การค้า และห้าง จึงสามารถแข่งขัน และสร้างการเติบโตท่ามกลางตลาดร้านอาหารไทย ที่มีร้านส้มตำจำนวนมาก อีกทั้งมีการขยายสาขาไปต่างประเทศได้แก่ ลาว และกัมพูชา เป็นต้น
เขียง เตรียมบุกฟิลิปปินส์ - มาเลเซีย
ทั้งนี้เขียงมีสาขารวม 60 สาขา เน้นนำเสนอรสชาติเข้มข้น และมีความสดใหม่ของอาหารให้แก่ลูกค้า เน้นทำเลในการเปิดสาขาเดี่ยว ทั้งทำเลโรงพยาบาล และคอมมูนิตี้มอลล์ โดยได้ขยายสาขาไปต่างประเทศ ทั้งประเทศญี่ปุ่น เมืองโอซาก้า ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าลูกค้าชาวญี่ปุ่นตอบรับดี และรสชาติก็นำเสนอจัดจ้าน รวมถึงล่าสุดในเดือน ก.ย.นี้ได้เปิดสาขาแรกที่ลาว
"บริษัทได้ไปเปิดร้านเขียงที่ลาวแล้ว ในห้าง KOK KOK Mart เนื่องจากมีลูกค้าชาวลาวที่เข้ามารับประทานเขียงในไทยแล้วชื่นชอบ จึงสนใจอยากนำไปเปิดในลาว ทำให้มีการขยายไปสู่การเปิดสาขาใหม่"
สำหรับช่วงปลายปีนี้จะเปิดสาขาครั้งแรกที่ประเทศฟิลิปปินส์ จำนวน 2 สาขา ที่เมืองมะนิลา ซึ่งอยู่ในรูปแบบการเป็นแฟรนไชส์ในการขยายธุรกิจ รวมถึงการขยายสาขาใหม่ในมาเลเซีย เช่นกัน
ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายของแต่ละแบรนด์ได้วางไว้แตกต่างกัน สำหรับแบรนด์ตำมั่ว เป็นกลุ่มครอบครัว และกลุ่มเพื่อน ส่วนแบรนด์เขียงมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนทำงาน
ขณะที่การนำแบรนด์เขียงไปเปิดสาขาในต่างประเทศนั้น ความท้าทายคือ ลูกค้าต่างชาติบางส่วนไม่รู้จักกะเพรามาก่อน สิ่งสำคัญคือ ทำให้ลูกค้ารู้จักอาหาร และรสชาติ รวมถึงมีความเข้าใจ และคุ้นเคยต่อรสชาติอาหารไทย
อย่างไรก็ตาม หากประเมินภาพรวมการแข่งขันในตลาดที่มีแบรนด์ใหม่จากต่างชาติเข้ามามากขึ้นนั้น โดยในมุมมองของบริษัทยังไม่ได้กังวลจากการมีแบรนด์ใหม่จากต่างชาติเข้ามาแข่งขันเพิ่มขึ้น เนื่องจากเอกลักษณ์ และรสชาติอาหารไทย มีความแตกต่าง และมีความโดดเด่นมาก
แนวทางการขยายธุรกิจสู่การเปิดแฟรนไชส์ที่บริษัทได้วางมาตรฐานของการลงทุน ทั้งตำมั่ว มีขนาดพื้นที่ประมาณ 100 - 120 ตร.ม. การลงทุนเบื้องต้นในการเปิดค่าแฟรนไชส์อยู่ที่ 8 แสนบาท และทำสัญญา 5 ปี รวมแล้วใช้งบลงทุนในการเปิดสาขาประมาณ 5 ล้านบาท ส่วนใหญ่คืนทุนได้ในเวลา 2.5 - 3 ปี
ส่วนเขียง ค่าลงทุนแฟรนไชส์ 6 แสนบาท ทำสัญญา 6 ปี รวมแล้วลงทุนประมาณ 2.5 ล้านบาท สามารถคืนทุนได้ในเวลาประมาณ 3 ปี
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1145187
