A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

NEWS

    

อาหารไทยสู้ศึกตลาดโลก “จีน” ดัมพ์ราคา 40% ชิงแชร์

“อาหารไทย"

แม้ว่าภาพรวมการค้าอาหารโลก 6 เดือนแรก ปี 2567 หดตัวลง 4.0% โดยมีมูลค่าการค้า 9.33 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่การส่งออกสินค้าอาหารของไทยแรงไม่แผ่ว มีมูลค่า 852,432 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.9%

สถาบันอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ลุ้นครึ่งปีหลังขยายตัวต่อเนื่อง 7.8% มีมูลค่า 797,568 ล้านบาท ส่งผลให้ส่งออกทั้งปี 2567 จะแตะ 1.65 ล้านล้านบาท ขยายตัว 8.8%

สถานะไทยบนเวทีโลก

ซึ่งเมื่อเทียบย้อนหลังไปจะพบว่าการส่งออกอาหารของไทยเติบโตต่อเนื่อง นับจากปี 2560 ไทยส่งออกอาหารมูลค่า 1.09 ล้านล้านบาท กระทั่งถึงปี 2566 ก้าวกระโดดเป็น 1.46 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3 แสนล้านในช่วง 6 ปี

ล่าสุดในครึ่งปีแรกของปีนี้ ไทยสามารถขยับอันดับเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหาร อันดับ 12 จากเดิมที่เคยอยู่ในอันดับที่ 14 ส่งออกในรูปดอลลาร์เพิ่ม 5.1% มูลค่า 23,818 ล้านเหรียญสหรัฐ ครองส่วนแบ่งตลาด 2.55% ของตลาดโลก ในขณะที่ประเทศ 9 อันดับแรกของโลก มีอันดับโลกไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี จีน ฝรั่งเศส สเปน แคนาดา และอิตาลี

ตลาดส่งออกอาหารโลกแข่งเดือด

ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ผลิตอาหารจากจีนเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 5 ของโลก มีส่วนแบ่งในการตลาดเพิ่มขึ้น 4.43% ในช่วงครึ่งปีแรกจากยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้น 0.9% มูลค่า 41,330 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ดร.วิศิษฐ์

“จากปัญหาเศรษฐกิจของจีนส่งผลให้ผู้ประกอบการจีนที่ผลิตสินค้าที่เหมือนและใกล้เคียงกับไทย ได้ส่งสินค้าอาหารออกไปทำตลาด แข่งขันราคากับไทยโดยมีราคาต่ำกว่าไทย 30 - 40% ถึงแม้ว่าผู้นำเข้าจะมั่นใจในคุณภาพอาหารและจุดแข็งในเรื่องของการส่งมอบอาหารตรงเวลา แต่ต้องยอมรับว่าในปีนี้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้นำเข้าหลายรายก็หันไปสั่งซื้อสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น”

ขณะที่เวียดนาม คู่แข่งเดียวในอาเซียนที่ติด Top 20 ของผู้ส่งออกอาหารโลก ในช่วงครึ่งปีแรกส่วนแบ่งตลาดของเวียดนามในตลาดอาหารโลกเพิ่มขึ้น 1.78% โดยมีมูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกที่ 16,574 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.5%

“ปีนี้เวียดนามสามารถขยับอันดับ ส่งออกโต 20% มาจากสินค้า คือ สินค้าอาหารทะเล +7% ที่เด่น ๆ ทูน่า โตขึ้น 20% ข้าว เพิ่ม 36% มันสำปะหลัง เพิ่ม 35% ผักและผลไม้ เพิ่ม 23% ที่เด่น ๆ คือ ทุเรียน ลำไย แก้วมังกร”

อัพเลเวลสู่ ท็อป 10 ของโลก

ดร.เจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เราตั้งเป้าหมายจะยกระดับการเป็นผู้ส่งออกอาหารจาก อันดับ 12 เป็นอันดับ 10 ของโลก เพราะสินค้าอาหารเป็นสินค้าที่เติบโตต่อเนื่อง ครึ่งปีแรกโต 9% โดยไทยต้องรักษาจุดแข็งในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและต้องพัฒนานวัตกรรม ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมตามแนวทาง BCG

“ดร.เจริญ

โดยได้เห็นตัวเลขว่าในช่วงครึ่งปีแรกอุตสาหกรรมอาหารมีการขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น 30% มากเป็นอันดับ 3 รองจากอิเล็กทรอนิกส์และอีวี ซึ่งภาคเอกชนในอุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างประโยชน์ต่อคนไทยมากที่สุด เพราะใช้สัดส่วนวัตถุดิบในประเทศ (local content) สูง

เราต้องปรับกลยุทธ์หาตลาดส่งออกที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น ทำอย่างไรให้สามารถสามารถแข่งขันได้มากขึ้น

“ภาคเอกชนอุตสาหกรรมอาหารได้มีการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง หลายบริษัทได้จัดสรรเงินลงทุน 1% ของยอดขายเพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ทำให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อย่างการพัฒนาอาหารอนาคต ซึ่งต่อไปต้องดึงพันธมิตรจากต่างชาติเข้ามาลงทุน เพื่อต่อยอดสร้างรายได้กลุ่มอาหารให้มากขึ้น เพราะการที่อุตสาหกรรมเติบโต ก็จะส่งผลดีทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย”

เน้นเพิ่มมูลค่าสินค้าอาหาร

ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้อุตสาหกรรมอาหารมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นคือการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอาหารไทย สถาบันจึงจัดให้มีโครงการร่วมกับภาคเอกชนในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลดขยะจากอาหาร การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน

“ดร.ศุภวรรณ

สำหรับแนวโน้มส่งออกอาหารไทยครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมีมูลค่า 797,568 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.8% โดยการส่งออกในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ปี 2567 จะมีมูลค่า 395,536 ล้านบาท และ 402,032 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.6% และ 9.9% ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้ภาพรวมในปี 2567 มีมูลค่า 1.65 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.8% เทียบจากปีก่อน (2566) ที่มีมูลค่า 1.51 ล้านล้านบาท

โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการที่ประเทศคู่ค้ากังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร หลายประเทศขาดศักยภาพในการผลิตสินค้าเพื่อการแข่งขันในตลาดโลก สินค้าอาหารไทยมีภาพลักษณ์ด้านคุณภาพมาตรฐานและได้รับความเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกขยายตัวต่ำกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากมีแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูง ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในภาคเกษตรที่ต่อเนื่อง ค่าเงินบาทยังคงผันผวนและมีทิศทางแข็งค่าขึ้น ต้นทุนค่าขนส่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าระวางเรือ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภค

ทั้งนี้ สินค้าที่มีโอกาสส่งออกดี ปี 2567 ได้แก่ ข้าว คาดว่าจะขยายตัว 15% จากปี 2566 ไก่แช่แข็งและแปรรูปขยายตัว 7.5% แป้งมันสำปะหลัง ขยายตัว 25% อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 35.6% ปลาทูน่ากระป๋อง ขยายตัว 15% เครื่องดื่มขยายตัว 7.8% เครื่องปรุงรสขยายตัว 15.5% ผลิตภัณฑ์มะพร้าวขยายตัว 27.7% อาหารพร้อมรับประทานขยายตัว 16.7% อาหารอนาคตขยายตัว 0.5% ผลิตภัณฑ์สับปะรดขยายตัว 3.5%

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/economy/news-1631649