16 August 24 ประชาชาติธุรกิจ by Kanokkan
ง่าย สะดวก และอร่อยยังเป็น “จุดขาย” ตลอดกาลของ “มาม่า” โดยไม่ต้องสนใจสภาพเศรษฐกิจ
“เราพิสูจน์กันมา 40 - 50 ปีเเล้วว่า ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร มาม่ายังเติบโตได้ต่อเนื่อง” พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ให้สัมภาษณ์
ยอดขายแบรนด์มาม่าครึ่งปีแรกของปี’67 เป็นไปตามคาด อยู่ที่ 8,500 ล้านบาท แบ่งเป็น ในประเทศ 6,100 ล้านบาท ส่งออก 2,400 ล้านบาท เติบโตขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีก่อน คาดทั้งปีจะปิดที่ 17,000 ล้านบาท
“พันธ์” ระบุว่า ปัจจุบันตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทย มีมูลค่ารวม 20,000 ล้านบาท มาม่าครองส่วนแบ่งการตลาดมากสุด 48-49% รองลงมาเป็นยำยำ ไวไว นิชชิน และบะหมี่นำเข้า ตามลำดับ
“จะเรียกว่าเป็นทางเลือกแรกของผู้บริโภคหรือเป็นทางเลือกสุดท้ายก็ได้” เขาบอกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่ใช่ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ
“ผมไม่จำเป็นต้องกิน แต่ก็กินเป็นประจำ”
ทั้งนี้ ปริมาณการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยอยู่ที่ราว 53 - 54 ซองต่อคนต่อปี โดยแบรนด์มาม่ามีกำลังการผลิตส่งขายในไทยและต่างประเทศราว 2,000 กว่าล้านซองต่อปี
ปี 2567 วิจัยกรุงศรีระบุว่า การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยมีปริมาณเป็นอันดับ 9 ของโลก ด้วยจำนวน 3.87 พันล้านหน่วยบริโภค และมีอัตราการบริโภค 54 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี อยู่อันดับ 3 ของโลก ร่วมกับเนปาล รองจากเวียดนาม 86.4 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี และเกาหลีใต้ 76.2 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี เทียบกับการบริโภคเฉลี่ยทั้งโลกอยู่ที่ 15.2 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี
คาดว่าปี’67 - 69 ปริมาณการจำหน่ายอาหารพร้อมทานในไทย ยังมีโอกาสเติบโตได้เฉลี่ย 3 - 4% ต่อปี ในเชิงการส่งออก ประเทศกัมพูชาเป็นคู่ค้าหลักมีสัดส่วน 20.3% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์ รองลงมา ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ 12.8% เมียนมา 12.6% สปป.ลาว 10.5% และสหรัฐ 6.6%
ไม่เคยปรับลดขนาดสินค้า
กลยุทธ์การตลาดด้วย “การปรับลดน้ำหนักและปริมาณ” โดยไม่ลดราคานั้น “พันธ์” ยืนยันว่า “ผมไม่เคยทำ”
เขาบอกว่า ตลอด 25 ปีนับตั้งแต่บทบาทพนักงานทั่วไปจนก้าวมาเป็นผู้บริหารของมาม่า ไม่เคยมีการปรับลดขนาดและปริมาณ ภายใต้ความเป็นสินค้าควบคุมของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
“มาม่าขนาดมาตรฐาน 55 กรัม หากปรับลดลงกว่านั้นคนก็กินไม่อิ่ม การปรับลดขนาดเพื่อให้ราคาถูกลงจึงไม่ใช่คำตอบ”ทายาทมาม่าบอก 70 - 80% ของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังเป็นขนาด 55 กรัม
“หลายคนบอกว่า หนึ่งซองไม่อิ่ม สองซองไม่หมด เราแก้ปัญหามาตั้งแต่ปี 2547 ด้วยการเพิ่มขนาดบิ๊กแพ็ก 90 กรัม ตอบโจทย์ตรงกลาง ปรับจูนเรื่องของรสชาติจนเป็นที่ยอมรับ มียอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนต้องขยายกำลังการผลิต”
ไม่กลัวกระแสเกาหลี
วัฒนธรรมอาหารจากพลังซอฟต์พาวเวอร์ของบรรดาซีรีส์เกาหลี มีอิทธิพลต่อตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยไม่น้อย
“สู้อยู่แล้วครับ” พันธ์ บอกและว่า ข้อได้เปรียบของแบรนด์ไทยคือ “ราคาถูก” ต่างจากแบรนด์นำเข้าที่มีราคา 40 - 50 บาทต่อซอง ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการบริโภค
“เกาหลีได้กระแส แต่ไม่สามารถกินได้บ่อยเท่ากับบะหมี่ไทย”
การเข้ามาของแบรนด์เกาหลียังกลายเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการในไทยปรับตัว เพิ่มรสชาติและรูปแบบใหม่ ๆ รวมถึง “เขย่าฐานราคา” ให้ก้าวเข้ามาอยู่ในกลุ่มตลาดพรีเมี่ยม
“ซีรีส์และเส้นเกาหลีเข้ามาทำลายกำแพงราคาให้กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไทย” โดยตัว “มาม่า OK” ที่แบรนด์พัฒนามาสู้ ขายอยู่ที่ 15 บาทต่อซอง ได้รับการยอมรับจากตลาดและกินส่วนแบ่งราว 10%
โตไม่ทันเงินเฟ้อ - ไม่กลัวขึ้นค่าแรง
ความคิดเห็นต่อสถานกาณ์เศรษฐกิจในประเทศ “ทายาทมาม่า” มองว่า ปัจจุบันกำลังซื้อของคนในประเทศลดลง โดยค่าแรงและเงินเดือนของประชาชนเติบโตไม่ทันกับเงินเฟ้อ
“เงินเฟ้อโตเร็วกว่ารายได้ กำลังซื้อมันก็หด”
การกระตุ้นกำลังซื้อ โดยเติมเงินเข้าสู่กระเป๋าของประชาชน พันธ์บอกว่า เป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่ทำในรูปแบบใด คือเรื่องที่ต้องตั้งคำถามและประเมินอย่างรอบคอบ ซึ่งรวมถึงโครงการดิจิทัลวอลเลต 4.5 แสนล้านของรัฐบาล
“ผมกังวลว่า รูปแบบดังกล่าวจะกระตุ้นหรือเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจได้อย่างที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้หรือไม่”
ถัดจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น สิ่งต่อมาที่ประชาชนต้องการคือ “การปรับขึ้นค่าแรง” ในฐานะผู้ประกอบการ “พันธ์” บอกว่า “ผมไม่เคยกลัว” เมื่อต้นทุนเพิ่ม ผลลัพธ์ก็ต้องเพิ่ม
“เราพยายามทำให้ค่าแรงต่อซองไม่เพิ่ม เช่น วันนี้จ่ายค่าแรงอยู่ 10 ล้านบาท สามารถผลิตได้ 10 ล้านซอง เท่ากับซองละ 1 บาท หากวันหนึ่งต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มเป็น 12 ล้านบาท เราต้องพยายามเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ 12 ล้านซอง เพื่อให้ต้นทุนยังเท่าเดิม”
“ต้องเพิ่ม Productivity หรือผลิตผลในการทำงานให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลลัพธ์มากขึ้น ลดความสูญเสียให้น้อยลง”
หวยส่งเสริมการตลาด
มาม่าเข้ามาอยู่ในครัวของคนไทยมากว่า 50 ปี โดย พ.ศ. 2515 บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนกับยูนิ-เพรสซิเดนท์จากประเทศไต้หวัน ก่อตั้งบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
เบื้องหลังความสำเร็จของมาม่าในสายตาของพันธ์ บุตรชายทายาทประธาน “พิพัฒ พะเนียงเวทย์” คือ การอยู่ในธุรกิจอาหารที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่าย มีรสชาติที่อร่อย สะอาด ปลอดภัย และราคาไม่แพง มีการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีเยี่ยม อัตราความสูญเสียต่ำไม่ถึง 1% และมีระบบกระจายสินค้าของสหพัฒน์ที่แข็งแกร่งครอบคลุมทั่วประเทศ
นอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐานดังกล่าวแล้ว ในเชิงการตลาด “วันหวยออก” 1 และ 16 ของทุกเดือน ยังช่วยให้มาม่าอยู่ในกระแสได้เสมอ
“เขาพูดถึงเราเดือนละ 2 ครั้ง ช่วงบ่ายสองโมงจะโพสต์ว่า งวดนี้ต้องมา พอสี่โมงครึ่งจะเพิ่มอีกคำเข้าไปคือ งวดนี้ต้องมาม่า” พันธ์ พูดอย่างอารมณ์ดี
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/marketing/news-1629405
