15 July 24 กรุงเทพธุรกิจ by Kanokkan
อย.เผยไทยไม่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ “ข้าวยีสต์แดง”จากญี่ปุ่น พร้อมระบุ 5 กลุ่มต้องห้าม หลังมีรายงานในญี่ปุ่นทำผู้เสียชีวิต
จากกรณีที่สื่อญี่ปุ่นมีการรายงาเรื่องยอดผู้เสียชีวิตที่คาดว่าอาจเชื่อมโยงกับการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารข้าวยีสต์แดงของบริษัทแห่งหนึ่ง เพิ่มขึ้นเป็น 93 รายนับถึงวันศุกร์ที่ 5 ก.ค.2567นั้น
สำหรับประเทศไทย เมื่อปลายเดือนมี.ค.2567 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศญี่ปุ่น ได้เรียกคืนสินค้าที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดไตวาย โดยระบุว่าได้รับรายงานช่วงเดือนมกราคม 2567 มีผู้ป่วยหลังรับประทานผลิตภัณฑ์ Beni-koji choleste-help ที่มีส่วนประกอบของข้าวยีสต์แดง (red yeast rice) ผลิตโดย บริษัท โคบายาชิ ฟาร์มาซูติคอล จำกัด ประเทศญี่ปุ่น จึงได้เรียกคืนผลิตภัณฑ์ทั้งหมด และได้ทำการตรวจสอบและวิเคราะห์หาสารซิทรินินที่อาจปนเปื้อนจากกระบวนการหมักข้าวยีสต์แดง เนื่องจากสารนี้เป็นพิษต่อไต
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ไทยได้รายงานในช่วงนั้นว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลการขออนุญาตแล้ว ไม่พบการขออนุญาตนำเข้า และเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์ในข่าวดังกล่าว
ทั้งนี้ กรุงเทพธุรกิจได้ตรวจสอบกับกองด่านอาหารและยา อย.อีกครั้งเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2567 ได้รับการยืนยันว่า ณ ปัจจุบันก็ยังไม่มีการขออนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวไว้ว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีข้าวยีสต์แดง เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ได้รับอนุญาตจาก อย. จะต้องมีสารโมนาโคลิน ไม่เกิน 3 มิลลิกรัมต่อวัน และปริมาณสารปนเปื้อนซิทรินิน ไม่เกิน 10.7 ไมโครกรัมต่อวัน ซึ่งปริมาณที่อนุญาตเป็นปริมาณที่ปลอดภัยต่อการบริโภค
ฉลากจะต้องแสดงข้อความคำเตือน ดังนี้
ห้ามใช้เกินขนาดที่กำหนด
ห้ามใช้ในหญิงให้นมบุตร
ห้ามใช้ ร่วมกับยาลดระดับไขมันในเลือด, ยากดภูมิคุ้มกัน , ยารักษาอาการซึมเศร้า, และยาต้านไวรัสเอดส์
ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคตับ หรือโรคไต
ห้ามรับประทานติดต่อกันนานเกิน 4 เดือน (16 สัปดาห์)
ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
หยุดรับประทานทันทีหากมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือมี อาการคล้ายเป็นไข้หวัด
“ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดเหตุในญี่ปุ่นเป็นผลิตภัณฑ์ลดคอเรสเตอรอล ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจใช้สารสำคัญโมนาโคลินในปริมาณสูงกว่าที่กำหนดในประเทศไทย เนื่องจากญี่ปุ่นไม่จำกัดปริมาณการใช้ และ อย. ไม่ได้อนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย” ภก.เลิศชายกล่าว
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/health/public-health/1135391
