28 June 24 กรุงเทพธุรกิจ by Kanokkan
ผ่ายุทธศาสตร์ความยั่งยืนยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภค "อายิโนะโมะโต๊ะ" ที่เดินหน้าดำเนินกิจกรรมต่างๆทุกมิติ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้ผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม
หากกล่าวถึงตำนานรสชาติ “อูมามิ” ต้องยกให้ผงชูรส “อายิโนะโมะโต๊ะ” ซึ่งปัจจุบันเป็นสินค้าที่ยืนหนึ่งในตลาดอย่างแข็งแกร่ง มีส่วนแบ่งทางการตลาดเกินกว่า 94% ในประเทศไทย “อายิโนะโมะโต๊ะ” สร้างฐานผลิตและทำตลาดมายาวนานกว่า 6 ทศวรรษ ขณะที่ทั่วโลกครองใจผู้บริโภค โดยเฉพาะแดนอาทิตย์อุทัยมากกว่า 100 ปี
การเติบโตของ “อายิโนะโมะโต๊ะ” อาจมีรากฐานจากผงชูรส ทว่า ปัจจุบันอาณาจักรธุรกิจที่ทำรายได้หลัก “หลายหมื่นล้านบาท” มีการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG) ตอบสนองผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายชาวไทยหลากหลาย จากหลากแบรนด์อยู่ระดับแถวหน้าของตลาด ไม่ว่าจะเป็นกาแฟกระป๋องพร้อมดื่ม “เบอร์ดี้” บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “ยำยำ” ผงปรุงรส “รสดี” และ “รสดีซุปก้อน” ซอสปรุงรส “ทาคูมิ อายิ” เป็นต้น
“เนชั่น กรุ๊ป” และ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้เยี่ยมชม “โรงงานอายิโนะโมะโต๊ะ” จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมรับฟังการแผนขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน จาก “ดร.ทองดี ปาโส” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ(ประเทศไทย) จำกัด และทีมงาน ดร.ทองดี ฉายภาพว่า โรงงานอายิโนะโมะโต๊ะ อยุธยาฯ เป็นหนึ่งใน 3 ของโรงงานที่ผลิตผงชูรสของบริษัทที่ปัจจุบันมีฐานอยู่ในจังหวัดกำแพงเพชร และปทุมธานีด้วย
โรงงานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2556 บนพื้นที่ 1,368 ไร่ ภายใต้งบลงทุน 6,000 ล้านบาท ขณะที่โรงงาน 3 แห่ง ที่ผลิตผงชูรสด้วยกำลังผลิตรวม 1.8 แสนตันต่อปี โรงงานอายิโนะโมะโต๊ะ อยุธยา มีกำลังการผลิตสัดส่วน 38% และ 96% เป็นการผลิตผงชูรสตอบสนองผู้บริโภคหรือเน้นขายปลีกเป็นหลักนั่นเอง
ทั้งนี้ ขนาดหรือไซส์ผงชูรสยอดฮิตที่ป้อนตลาดในประเทศ มีมากมาย เช่นขนาด 9 กรัม 35 กรัม 250 กรัม 1,000 กรัม และมีส่งออกไปยังประเทศเกาหลี อินเดีย รวมถึงการผลิตไซส์ใหญ่ 1,000 กิโลกรัม(กก.) ให้กับธุรกิจในเครือ เพิ่มความอูมามิให้กับสินค้าด้วย เช่น ยำยำ รสดี ฯ
ภาพธุรกิจต้องเดินหน้าพัฒนาสินค้าคุณภาพ ตอบสนองความต้องการตลาดและผู้บริโภค ทว่า มิติที่ต้องดำเนินการเข้มข้น คือแผนพัฒนาความยั่งยืนที่ต้องประกบคู่ภารกิจสร้างการเติบโตให้บริษัท รองรับพฤติกรรมผู้บริโภค ตลอดจนทุกภาคส่วนตระหนักถึงความยั่งยืนอย่างพร้อมเพรียงกัน ในการลดผลกระทบและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคม สิ่งแวดล้อม และโลก
“อายิโนะโมะโต๊ะ” จึงปรับแผนงานให้สอดคล้องกับเมกะเทรนด์ข้างต้น และที่ผ่านมาได้ประกาศวิสัยทัศน์ครั้งใหม่ ด้วยการมุ่งสู่การเป็น “ผู้นำในการสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับสังคมไทยอย่างยั่งยืน” สอดคล้องกับค่านิยมหลักเพื่อสร้างคุณค่าร่วมกับสังคมอย่างยั่งยืน (ASV) รวมถึงเป้าหมายการเสริมสร้างสุขภาพดีของผู้คน 1,000 ล้านคนทั่วโลก และส่งเสริมความยั่งยืนของโลกด้วยการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ 50% ในปี 2573
สำหรับแนวทางที่โรงงานอายิโนะโมะโต๊ะ อยุธยาฯ มุ่งมั่นดำเนินการมีหลายมิติ ด้านพลังงาน ปี 2557-2559 ได้ใช้เงินลงทุน 1,250 ล้านบาท เพื่อลุยโครงการหม้อต้มไอน้ำพลังงานชีวมวล ผลิตไอน้ำและไฟฟ้าใช้ภายในโรงงาน ลดต้นทุนด้านการผลิตพลังงานถึง 150 ล้านบาทต่อปี
โครงการดังกล่าว ใช้ “แกลบ 100%” หรือราว 8 หมื่นตันต่อปี จึงลดการใช้น้ำมันเตา 14 ล้านลิตรต่อปี ที่สำคัญลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกได้ 6 หมื่นตันของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
นอกจากนี้ การมุ่งบรรลุเป้ารักษ์โลกในปี 2573 ยังมีทั้งลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 50% การลดขยะพลาสติกเป็นศูนย์(รีไซเคิลพลาสติก) การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 80% และการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน 100% บริษัทยังมีเป้าหมายที่เร็วกว่านั้นคือภายในปี 2568 จะลดปริมาณของเสียจากอาหารและอื่นๆลง 50%
หลายกิจกรรมมีความคืบหน้าและขยับใกล้เป้าหมายทุกขณะ เช่น การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำทำได้แล้ว 41% ถือว่าผ่านครึ่งทางแล้ว การใช้พลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก ก็อยู่ระหว่างติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์)ที่โรงงาน โดยคำนึงถึงเสถียรภาพของการผลิพลังงานไฟฟ้าเป็นสำคัญด้วย เนื่องจากโรงงานอายิโนะโมะโต๊ะ อยุธยาฯ ผลิตผงชูรสตลอด 24 ชั่วโมง(3 กะ) โดยไม่มีการหยุด
อีกมิติ “อายิโนะโมะโต๊ะ” มีการจัดทำโครงการ “Thai Farmer Better Life Partner”(TFBLP) เพื่อช่วยปลดล็อกปัญหาต่างๆให้กับเกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง เพราะบริษัทถือเป็น “เบอร์ 1” ที่ใช้วัตถุดิบแป้งมันสำปะหลังในประเทศไทย ทว่าสิ่งที่เกษตรกรต้องเจอเมื่อปลูกมันสำปะหลัง มีทั้งเป็นโรคพืช ปริมาณผลผลิตต่อไร่หรือยีลด์ การบริการจัดการน้ำรับมือภัยแล้ง เป็นต้น โดยที่ผ่านมาการลุยโครงการอย่างต่อเนื่อง สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตได้ 20 - 30%
อย่างไรก็ตาม ปี 2567 ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ภัยแล้ง ทำให้บริษัทประเมินว่าผลผลิตมันสำปะหลังจะลดลงราว 30% ด้านการผลิตจึงต้องหาทางรับมืออย่างต่อเนื่อง จากการเสริมแกร่งให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง “อายิโนะโมะโต๊ะ” จะขยายโปรเจกต์รูปแบบดังกล่าว ไปสู่เกษตรกรกลุ่มอื่นทั้งเมล็ดกาแฟ และอ้อย ต่อไป เนื่องจากเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับผลิตกาแฟกระป๋องพร้อมดื่ม “เบอร์ดี้” และน้ำตาลเป็นอีกวัตถุดิบผลิตผงชูรส
ด้านสินค้าเป็นอีกหมากรบสำคัญที่จะตอบโจทย์ความยั่งยืนและยังสนองความต้องการผู้บริโภค ซึ่งจากนี้ไป แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์จะต้องมุ่งเสริมสุขภาพผู้คน โดยยังคงชูโภชนาการและไม่ลดละด้านความอร่อย สินค้าโภชนาการที่มุ่งมั่นไม่ลดละด้านความสามารถในการเข้าถึงสินค้าและโภชนาการที่ดีของผู้บริโภค รวมถึงโภชนาการที่มุ่งมั่นไม่ลดละด้านการพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองวิถีชีวิตท้องถิ่นของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนมี 3 สโคปที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการ โดย “อายิโนะโมะโต๊ะ” ย้ำว่า สโคป 1 และ 2 ซึ่งเป็นการสตาร์ตจากภายในองค์กร ปัจจุบันบรรลุเป้าแล้ว 90% ทว่า โจทย์ท้าทาย คือการลุย “สโคป 3” เพราะเป็นการผนึกพันธมิตรภายนอก ที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าการผลิตหรือซัพพลายเชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมและเดินไปในทิศทางเดียวกัน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1133264
