17 June 24 กรุงเทพธุรกิจ by Kanokkan
ธุรกิจจำหน่ายอาหารทะเลญี่ปุ่น เบนเข็มลุยตลาดไทย เพราะมีความต้องการบริโภคอาหารญี่ปุ่นมากขึ้น หลัง "จีน" แบนนำเข้าอาหารทะเลจากแดนปลาดิบ เพราะกังวลเกี่ยวกับน้ำเสียฟูกุชิมะ
บริษัทจำหน่ายอาหารทะเลสัญชาติญี่ปุ่นแห่เข้ามาบุกตลาดในประเทศไทย ในช่วงที่ประเทศกำลังเปลี่ยนตลาดคู่ค้าสำคัญ หลังจีนระงับนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น
นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า บริษัท Sprout Investment ในเมืองโยโกฮามา เข้าไปจัดงานชิมอาหารในบาร์แห่งหนึ่งใน จ.กรุงเทพมหานคร ในช่วงปลายเดือน เม.ย. เพื่อจัดแสดงอาหารทะเลสดใหม่จากญี่ปุ่น ซึ่งเจ้าของร้านอาหารทั้งไทย และญี่ปุ่นที่เข้าร่วมงาน ต่างเพลิดเพลินไปกับซาชิมิปลาโบนิโตะ ปลาแมกเคอเรล และอาหารทะเลชนิดอื่นๆ
ผู้เข้าร่วมงานชาวไทย เผยกับนิกเคอิเอเชียว่า รู้สึกเซอร์ไพรส์ในคุณภาพของปลาโบนิโตะ และปลาแมกเคอเรล และอยากนำปลาชนิดนี้ไปจำหน่ายที่ร้านอาหารของตน
ทั้งนี้ บริษัท Sprout บริหารจัดการร้านอาหารประเภทอิซากายะมากกว่า 20 สาขาในญี่ปุ่น และบริหารอีก 1 สาขา ในกรุงเทพฯ บริษัทยังได้วางแผนขยายธุรกิจสู่ธุรกิจขายส่งอาหารทะเลในไทย อย่างเร็วที่สุดคือ ช่วงเดือน ส.ค. นี้
“นาโอกิ อิตโตะ” ผู้แทนกรรมการบริษัท Sprout กล่าวว่า บริษัทเห็นศักยภาพของตลาดในไทยสูง และบริษัทจะซื้ออาหารทะเลจากคาบสมุทรโบโซของ จ.ชิบะ เป็นหลัก และนำมาจำหน่ายให้ร้านอาหารในไทย
“เราอยากจำหน่ายปลาที่สด และมีคุณภาพ ในราคากลางๆ” อิตโตะ กล่าว
ขณะที่บริษัท Uoriki ที่จำหน่ายอาหารทะเลในกรุงโตเกียว ตั้งเป้าเปิดสาขาในไทยมากถึง 100 สาขาภายใน 5 ปี ภายใต้แผนของบริษัทที่เปิดเผยเมื่อเดือน ต.ค.2566
“มาซายูกิ ยามาดะ” ประธานบริษัท Uoriki กล่าว “ประเทศไทยคือ บลูโอเชี่ยน (blue ocean)” หรือหมายถึงตลาดที่ยังมีความต้องการของลูกค้าเหลืออยู่
ทั้งนี้ บริษัท Uoriki ได้ร่วมทุนกับบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) เมื่อเดือน เม.ย. 2566 และเปิดกิจการที่แรกในเดือน ต.ค. และบริษัทกำลังขยายสาขาเพิ่มเติมในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตของ “โลตัส” และร้านค้าปลีกในรูปขายส่งอย่าง “แม็คโคร” ซึ่งทั้งสองธุรกิจบริหารโดยบริษัทซีพี
นอกจากนี้ Uoriki ต้องการขยายธุรกิจในจังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจาก จ.กรุงเทพฯ ด้วย อาทิ จ.เชียงใหม่ และกำลังพิจารณาเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจกับเซ็นทรัล กรุ๊ป และบริษัทสัญชาติไทยอื่นๆ
ขณะที่บริษัท Jalux ผู้จำหน่ายสินค้าญี่ปุ่นที่ได้รับการสนับสนุนจากเจแปนแอร์ไลน์ และบริษัทนำเข้า-ส่งออก Sojitz ได้เปิดตลาดขายส่งอาหารทะเลสดจากญี่ปุ่นใจกลางกรุงเทพฯ และมีลูกค้ารายย่อยเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ช่วงแพร่ระบาดโควิด-19
นิกเคอิ เอเชีย ระบุว่า อาหารญี่ปุ่นเคยเป็นอาหารหรูหราในประเทศไทย แต่ได้รับความนิยมมากขึ้น และเข้าถึงผู้คนมากขึ้นเมื่อรายได้ในประเทศเพิ่มขึ้น และความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นปัจจัยสำคัญต่อผู้จำหน่ายอาหารทะเลสัญชาติญี่ปุ่นราคาถูก ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคชนชั้นกลางได้
ขณะที่ตลาดไทยที่กำลังเติบโต ก็เป็นประโยชน์ต่อญี่ปุ่นเช่นกัน เนื่องจาก “จีน” อดีตผู้นำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่นรายใหญ่ที่สุด ระงับนำเข้าอาหารชนิดนี้หลังญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสียจากโรงงานนิวเคลียร์ลงสู่ทะเล และในการประชุมไตรภาคีระหว่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 26 พ.ค.67 ญี่ปุ่นไม่สามารถล็อบบี้จีนให้ยกเลิกมาตรการระงับนำเข้าอาหารทะเลในเร็ววัน ญี่ปุ่นจึงขยายการส่งออกอาหารทะเลมายังไทย
นิกเคอิ เอเชียระบุว่า ประเทศไทยมีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่กว่า 70,000 คน และมีร้านอาหารญี่ปุ่น รวมถึงร้านอาหารประเภทอิซากายะมากมาย จึงถือเป็นสถานที่ ที่เหมาะแก่ทดสอบการทำธุรกิจอาหารทะเลญี่ปุ่น และหวังว่าจะประสบความสำเร็จในสิงคโปร์ มาเลเซีย และประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/world/1130418
