A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

NEWS

    

‘เถ้าแก่น้อย’ อยากบุกโชห่วย อุปสรรค ‘สาหร่ายแพง’ โจทย์หินเจาะตลาดล่าง

“เถ้าแก่น้อย"

“เถ้าแก่น้อย” ฝันไกล อยากไปให้ครบ 100 ประเทศ! ส่วนในไทยยังไม่อิ่มตัว กวาดพื้นที่โมเดิร์นเทรดครบแต่ยังขาด “ร้านโชห่วย” สาเหตุ สาหร่ายแพง - ต้นทุนสูง ขายราคาต่ำก็ได้ปริมาณน้อย หลังบ้านเร่งบริหารจัดการต้นทุน - ออกสินค้าใหม่ ขานรับนโยบายปรับขึ้นค่าแรง

ย่างเข้าสู่ปีที่ 21 แล้ว แต่ “เถ้าแก่น้อย” ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสาหร่ายทะเลแปรรูปก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่ “อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์” ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร “เถ้าแก่น้อย” เปิดเผยว่า สัดส่วนยอดขายตอนนี้มาจากต่างประเทศ 70% และในประเทศ 30% ขณะนี้ส่งออกไปแล้ว 50 ประเทศทั่วโลก ปีที่ผ่านมาเถ้าแก่น้อยเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 22% สูงกว่าภาพรวมการเติบโตของตลาดขนมขบเคี้ยวด้วยซ้ำไป

“ตลาดนี้ยังไม่มีคนที่แข็งแกร่งเทียบเท่ากับเรา แต่เราก็ไม่ได้ประมาท นี่คือเหตุผลที่เราต้องมีพาร์ตเนอร์ใหม่ตลอดเวลา” อิทธิพัทธ์กางกลยุทธ์เร่งสร้างฐานตลาดต่างประเทศให้แข็งแกร่ง ขณะนี้ พอร์ชันที่ใหญ่ที่สุดยังตกเป็นของ “จีน” หากนับเฉพาะสาหร่ายนำเข้า “เถ้าแก่น้อย” คือเบอร์ 1 ในดินแดนมังกรทอง

ส่วนแถบอาเซียน “อิทธิพัทธ์” บอกว่า เถ้าแก่น้อยครองแชร์สาหร่ายนำเข้าใน “อินโดนีเซีย” เป็นอันดับ 1 เช่นกัน แต่ช้าก่อน.. นั่นแปลว่า ยังไม่ใช่เบอร์ 1 ของตลาด เพราะมีสารพัดแบรนด์ท้องถิ่นที่ต้องดับเครื่องชนก่อนไปถึงเป้าหมายสูงสุด

ไม่เพียงตลาดต่างประเทศเท่านั้น “อิทธิพัทธ์” เปิดเผยว่า ยังมีบางส่วนในไทยที่เถ้าแก่น้อยมองเห็นโอกาสขยายพอร์ตแต่ยังไปไม่ถึง ปัจจุบันสัดส่วนการขายบนโมเดิร์นเทรดคิดเป็น 70% ส่วนตลาดแบบดั้งเดิม หรือ “Traditional Trade” มีสัดส่วน 30% เท่านั้น “ร้านโชห่วย” จึงเป็นอีกหมุดหมายสำคัญที่สาหร่ายเถ้าแก่น้อยปักธง

“สาหร่าย"

อยากไป 100 ประเทศ แต่ทรัพยากรจำกัด เน้นประเทศศักยภาพสูงก่อน

จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สหรัฐ และแคนาดา คือ 5 ประเทศที่ “เถ้าแก่น้อย” ส่งออกสินค้ามากที่สุด “อิทธิพัทธ์” ระบุว่า ทุกวันนี้เถ้าแก่น้อยเน้นทำการตลาด 5 ประเทศนี้เป็นหลัก เพราะเป็นพื้นที่ที่แบรนด์ค่อนข้างแข็งแรง ยอมรับว่า แม้จะอยากไปต่ออีกหลายประเทศทั่วโลก แต่ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ต้องปรับเกม - สร้างฐานที่มั่นให้แข็งแรงก่อน เชื่อว่า ในอนาคต “เถ้าแก่น้อย” ไปถึงจุดที่กระจายร้อยประเทศทั่วโลกได้แน่นอน จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับเวลาและกลยุทธ์ที่มี

ตลาดศักยภาพสูงในนิยามของ “เถ้าแก่ต๊อบ” ต้องมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในลักษณะกราฟแบบ “Exponential” เป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรขนาดใหญ่ อย่าง “อินโดนีเซีย” มีประชากรเกือบ 300 ล้านคน “จีน” หลักพันล้านคน รวมถึง “สหรัฐ” ก็มีจำนวนประชากรติดอันดับต้นๆ ของโลกเช่นกัน เชื่อว่า ถ้าทำตลาดเหล่านี้ให้แข็งแรง จนขึ้นเป็นอันดับ 1 เบียดแบรนด์ท้องถิ่นได้สำเร็จ ความฝันที่จะไปอยู่บนชั้นวางสินค้าทั่วโลกคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

เรื่องราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ “อิทธิพัทธ์” ระบุว่า ตั้งแต่ทำแบรนด์เถ้าแก่น้อยมา 20 ปี ไม่เคยเห็นการปรับขึ้นราคาวัตถุดิบในลักษณะนี้มาก่อน เผชิญกับวิกฤติขาดแคลนสาหร่าย จนทำให้ราคาปรับตัวสูงตามกลไกตลาดไปด้วย แต่เพราะคลุกคลีในวงการมานาน ทำให้ “เถ้าแก่น้อย” มีความสัมพันธ์อันดีกับซัพพลายเออร์ฟาร์มสาหร่าย มั่นใจว่า ปีนี้มีวัตถุดิบเพียงพอที่จะโตตามเป้าได้สำเร็จ ขณะเดียวกันทางทีมบริหารก็ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อควบคุมต้นทุน ทำอย่างไรให้มีกำไร และบริษัทยังอยู่ได้เหมือนเดิม

ไม่ลดขนาด ไม่ขึ้นราคา ตัวไหนไม่ทำเงินก็เลิกขาย มั่นใจ ปี 2567 โตไม่สนลูกใคร

ภายในปีนี้ผู้บริหารเถ้าแก่น้อยบอกว่า ยังไม่มีแผนปรับลดขนาดสินค้า แต่จะมีการปรับปรุงแพ็กเกจจิ้งให้สอดคล้องกับเทรนด์โลก อาทิ ใช้บรรจุภัณฑ์ซองพลาสติกให้น้อยลง เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีการสำรวจความพึงพอใจของผู้บริโภคเสียก่อน ส่วนการปรับขึ้นราคาสินค้ายืนยันไม่มีแผนในปีนี้ อนาคตต้องดูตามกลไกตลาดต่อไป เนื่องจากสินค้าในหมวดขนมขบเคี้ยวกับการขึ้นราคาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ก่อนจะปรับแต่ละครั้งต้องผ่านการพิจารณามาอย่างถี่ถ้วน

หากถามว่า ที่ผ่านมามีการปรับลดขนาดสินค้าหรือราคาบ้างหรือไม่ “อิทธิพัทธ์” ระบุว่า ได้ยกเลิกการผลิตสินค้าบางตัวในกรณีที่ทำยอดขายไม่ถึงเป้า หลังจากนั้นจะคิดค้นสินค้าตัวใหม่ออกมาวางขายแทน มองว่า ธุรกิจขนมขบเคี้ยวต้องมีสินค้าหมุนเวียนตลอด อยู่นิ่งไม่ได้ ทั้งการออกรสชาติหรือไลน์โปรดักต์ใหม่ก็ดี แม้รสออริจินัลจะยังได้รับความนิยม แต่การสร้างสีสันให้แบรนด์และตลาดยังเป็นโจทย์สำคัญของธุรกิจ

“อิทธิพัทธ์

ด้านเป้าหมายปีนี้ “เถ้าแก่น้อย” ตั้งเป้าโต 15% เป็นขั้นต่ำ เชื่อว่า บริษัทที่ดีต้องโตอย่างน้อย “Double Digits” ทุกปี ถ้าโตกว่านี้ได้ก็เป็นเรื่องน่ายินดี ซึ่งการหาพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ บุกตลาดต่างประเทศก็เป็นอีกแรงหนุนสำคัญที่จะทำให้ภาพรวมธุรกิจเข้าใกล้เป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น

ส่วนอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างทางอาจเป็นเรื่องของวัตถุดิบ รวมถึงประเด็นภายในแต่ละประเทศ ไทยเองก็เผชิญกับเศรษฐกิจซบเซา-เติบโตช้า แต่ขณะเดียวกันก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ภาพรวมจึงมั่นใจว่า ยังเติบโตได้ เนื่องจากเทรนด์บริโภคสาหร่ายยังไปได้ดี

นอกจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โครงการต่างๆ ของรัฐบาลที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจก็มีส่วนช่วยภาคธุรกิจเช่นกัน ส่วนประเด็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่อาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้นเร็วๆ นี้ “อิทธิพัทธ์” ให้ความเห็นว่า การขึ้นค่าแรงเป็นเรื่องปกติ ประเทศที่กำลังพัฒนาต้องขึ้นค่าแรงอยู่แล้วจะได้สอดคล้องกับความเป็นอยู่ของคนทำงาน ทาง “เถ้าแก่น้อย” พร้อมปรับตัว ต้องมีการปรับกลยุทธ์การตลาด ออกโปรดักต์ใหม่กระตุ้นยอดขาย โดยรวมมองว่า ต้องแก้ที่ตัวเองเป็นหลัก

“กำไรสุทธิอาจจะต้องดูตามสถานการณ์ ส่วนยอดขายอยากให้ได้ตามเป้า ผลประกอบการเถ้าแก่น้อยไตรมาสที่ 1 ปี 2567 พบว่า ทั้งยอดขายและกำไรทำ ​“New High” เป็นสัญญาณที่ดี แต่ด้วยสภาพปัจจุบันต้นทุนสาหร่ายเปลี่ยนไป จะทำผลงานให้ได้อย่างไตรมาสแรกก็ค่อนข้างท้าทาย แต่ไม่ได้หมายความว่า เราไม่พยายาม ทีมปรับวิธีการทุกอย่าง มีการพูดคุยกับคู่ค้า ถ้าทำออกมาได้ดี ต้นทุนที่เราวางแผนไว้ก็น่าจะได้ตามแผน”

ตลาดในประเทศถึงทางตัน? ทำไม “เถ้าแก่น้อย” อยากลุยต่างประเทศ

สอบถาม “ต๊อบ-อิทธิพัทธ์” ถึงประเด็นการปักธงไปต่างประเทศว่า ขณะนี้ตลาดสาหร่ายในไทยสุดเพดานแล้วหรือไม่ เขาอธิบายว่า นโยบายของบริษัทคือต้องโตทุกประเทศ แต่เชื่อว่า อย่างไรต่างประเทศน่าจะโตกว่า

สำหรับประเทศไทยเถ้าแก่น้อยเป็นอันดับ 1 อยู่แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือสร้าง “Brand Love” รวมถึงสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ อย่าง “Gen Z” ให้พวกเขาได้เข้ามาทำความรู้จักกับแบรนด์ผ่านโปรดักต์และวิธีการกินใหม่ๆ ซึ่งในอนาคตอาจมีการแตกไลน์สินค้ากลุ่ม “Non-Seaweed” เพิ่มเติมด้วย

“ร้านโชห่วย"

“อิทธิพัทธ์” บอกว่า เขาได้ยินมาหลายครั้งเหมือนกันว่า “เถ้าแก่น้อย” อาจจะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ทว่า สำหรับตน หากทุ่มทรัพยากรลงไปยังมีอีกหลายเซกเมนต์ หลายโอกาสรออยู่ อย่างในปีที่ผ่านมา “เถ้าแก่น้อย” โฟกัสกลุ่มสาหร่ายอบ ซึ่งก็พบว่า ได้ยอดขายเพิ่มมาจากกลุ่มนี้ ปีก่อนทำ “สาหร่ายโรยข้าว” ก็ได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน จากที่ดูจะไปต่อไม่ได้ก็ยังมีที่ทางให้ไปต่อ อาจจะไม่ได้โตปีละ 50% หรือ 100% เหมือนช่วงแรกๆ แต่ก็ยังอยู่ในระดับ 10% โกยรายได้ในประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ “อิทธิพัทธ์” ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ตลาดในประเทศที่เถ้าแก่น้อยยังขาดและอยากลุยเพิ่ม คือช่องทาง “Traditional Trade” หรือตลาดแบบดั้งเดิม พูดให้เข้าใจโดยง่ายก็คือ “ร้านโชห่วย” นั่นเอง เถ้าแก่น้อยมีส่วนแบ่งในร้านค้าแบบดั้งเดิม 30% อีก 70% อยู่บนชั้นวางโมเดิร์นเทรด “Pain Point” สำคัญ เพราะโปรดักต์สาหร่ายมีต้นทุนสูง

หากจะขายบนโชห่วยต้องทำราคาไม่เกิน 5 บาทต่อซอง ซึ่งหากขายด้วยราคาดังกล่าว สินค้าในซองก็จะมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับขนมขบเคี้ยวเจ้าอื่น “อิทธิพัทธ์” ยอมรับว่า การทำราคาเป็นอุปสรรคก็จริง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของแบรนด์ด้วย เพราะส่วนแบ่งยังค่อนข้างน้อย ร้านโชห่วยจึงเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสกระโดดเข้าไปและได้ยอดขายกลับมา โดยตั้งเป้าอยากได้พื้นที่การขายจาก “Traditional Trade” 50% เพิ่มจากเดิมที่มีอยู่ 30%

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1130107