A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

NEWS

    

‘จอลลี่แบร์’ ขายขนมแบบเดิมเกือบ 40 ปี แต่มีรายได้ ‘300 ล้านบาท’

“จอลลี่แบร์"

เกิดจากผลิตลูกอม แต่โตกระฉูดจากเยลลี่เจ้าแรกในไทย! ส่องรายได้ “Jolly Bear” เยลลี่หมีหลากสี ขายสินค้าแบบเดียว แต่โกยรายได้ “300 ล้านบาท” บริษัทโตต่อเนื่อง-ฟันกำไรติดต่อกันทุกปี เผยสูตรสำเร็จต้องสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง อย่าหยุดเดินหน้า เพราะคู่แข่งพร้อมแซงตลอดเวลา

ปัจจุบันขนมเยลลี่เคี้ยวหนึบเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภควัยเด็ก แต่หากย้อนกลับไปเกือบ 40 ปีที่แล้ว ขนมที่ “จอลลี่แบร์” (Jolly Bear) ผลิต ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก คนไทยยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร

นี่อาจเป็นความท้าทายของ “เจ้าตลาด” ในช่วงแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไป การเป็นผู้ริเริ่มสิ่งแรกก็ทำให้ชื่อของ “จอลลี่แบร์” ได้รับการบอกต่ออย่างรวดเร็ว จนทำให้แบรนด์ภายใต้การนำของทายาทรุ่นที่ 3 เติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีคู่แข่งตัวใหญ่จากแดนไกลเข้าแชร์พื้นที่วางสินค้า แต่ “จอลลี่แบร์” ก็ยังโกยรายได้ปีล่าสุดไปแล้ว “332 ล้านบาท” กำไรสุทธิ “75 ล้านบาท”

“จอลลี่แบร์” ถือหุ้นและบริหารโดยคนไทย 100% อยู่ภายใต้การผลิตของ บริษัท พงษ์จิตต์ จำกัด มีจุดเริ่มต้นจากการผลิตลูกอมแบบแข็ง แต่ด้วยสภาพตลาดที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ทายาทรุ่นที่ 2 จึงเริ่มมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโต จึงเป็นที่มาของสินค้าเรือธงในปัจจุบันอย่างขนมเยลลี่รูปหมีหลากสี ตรา จอลลี่แบร์

“พลากร

“พลากร เชาว์ประดิษฐ์” ทายาทรุ่นที่ 3 และผู้บริหารแบรนด์จอลลี่แบร์ในปัจจุบัน เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นให้ฟังว่า ในยุคนั้นคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักขนมรูปร่างหน้าตาแบบนี้มากนัก ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจซื้อ การทำการตลาดก็ไม่ง่าย บรรดายี่ปั๊ว-ซาปั๊วที่เคยทำธุรกิจด้วยกันในการนำสินค้าไปวางขายก็เกิดความไม่เชื่อมั่น เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ทายาทรุ่นที่ 2 จึงเดินเกมด้วยการสื่อสารผ่านโฆษณาในช่องทางหลักอย่างทีวีและหนังสือ

หลังจากนั้นแบรนด์จึงเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง สินค้าได้รับการตอบรับที่ดีขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไปแม้ไม่ได้ทุ่มงบไปกับการทำการตลาด แต่สินค้าก็ยังสามารถขายได้ด้วยตัวเองมาโดยตลอด หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้จะพบว่า จอลลี่แบร์ผลิตสินค้าเยลลี่ผสมน้ำผลไม้ทั้งหมด 5 รสชาติ ได้แก่ ส้ม องุ่น แอปเปิล สตรอเบอร์รี่ และสับปะรด เท่านั้น เพิ่งมีการเปิดตัว “Super Sour” รสชาติใหม่ในรอบ 33 ปี ไปเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม “พลากร” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วง 7 ถึง 8 ปีที่ผ่านมา มีผู้เล่นรายอื่นๆ เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะแบรนด์จากต่างประเทศ ที่ผ่านมาแม้แบรนด์จะไม่ค่อยทุ่มงบไปกับการทำการตลาด ทว่า กลับพบ “Pain Point” สำคัญ คือเมื่อเวลาผ่านไป ผู้บริโภคเจนใหม่อาจไม่ได้รู้จักตัวตนของจอลลี่แบร์เหมือนกับคนรุ่นก่อนๆ ที่โตมาด้วยกัน ปัจจุบันจึงบุกทั้งออฟไลน์และออนไลน์ในการสื่อสารมากขึ้น โดยเน้นไปที่การตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ รีวิวเพื่อให้เกิดการบอกต่อ

ส่วนฝั่งแบรนด์ก็ไม่ได้พึ่งพารีวิวเพียงอย่างเดียว แต่ยังพัฒนารสชาติใหม่ แพ็กเกจจิ้งใหม่ รวมถึงการมองหาคู่ค้าในการออกสินค้าคอลแล็บส์ร่วมกันด้วย “พลากร” มองว่า การยืนอยู่ท่ามกลางตลาดที่มีการแข่งขันสูง ธุรกิจจะอยู่รอดได้ต้องสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง หาจุดแข็งของตัวเองให้เจอว่า เราแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ในตลาดอย่างไร เมื่อไรที่หยุดสร้างแบรนด์ เมื่อนั้นจะเจอกับปัญหาทันที เพราะคู่แข่งในสนามพร้อมที่จะวิ่งแซงหน้าเราตลอด แบรนด์จึงเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องรักษาและทำให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

สำหรับผลประกอบการ บริษัท พงษ์จิตต์ จำกัด ผู้ผลิตขนมเยลลี่ตรา จอลลี่แบร์ รวมถึงยังรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับแบรนด์อื่นๆ มีรายได้และกำไรเติบโตต่อเนื่องทุกปี โดยมีรายละเอียดดังนี้

ปี 2565: รายได้ 332 ล้านบาท กำไรสุทธิ 75 ล้านบาท

ปี 2564: รายได้ 264 ล้านบาท กำไรสุทธิ 49 ล้านบาท

ปี 2563: รายได้ 215 ล้านบาท กำไรสุทธิ 38 ล้านบาท

ปี 2562: รายได้ 205 ล้านบาท กำไรสุทธิ 38 ล้านบาท

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1128482