A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

NEWS

    

ภัยแล้งหนุนต้นทุนปลูกกาแฟพุ่ง เวียดนามหันปลูกทุเรียนส่งขายจีน

“กาแฟ"

เวียดนามส่งออกทุเรียน ฉายา “ราชาแห่งผลไม้” ไปจีนคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 มากกว่าปีก่อนหน้านี้กว่า 5 เท่าตัว

นิกเคอิ เอเชีย นำเสนอรายงานเรื่องนี้ โดยระบุว่า ราคากาแฟที่อยู่ในช่วงขาขึ้น เพราะผลผลิตน้อยสภาพอากาศที่ร้อนระอุและแห้งแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ประกอบกับความต้องการบริโภคกาแฟทั่วโลกที่โตต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนต้นกาแฟสายพันธุ์โรบัสตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่นิยมปลูกในเวียดนามแพงขึ้น เกษตรกรชาวเวียดนามจึงพากันปลูกพืชเกษตรที่สร้างรายได้อย่างอื่น เช่น ทุเรียน ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นผลไม้ยอดนิยมของผู้บริโภคชาวจีน

“ตอนนี้ราคาเมล็ดกาแฟและไข่แพงขึ้นมาก” ตัวแทนร้าน Cafe Giang ซึ่งตั้งอยู่ในย่านเมืองเก่ากรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม กล่าว

ร้านนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี 2489 เป็นร้านกาแฟที่ถือเป็นแหล่งกำเนิดของ กาแฟไข่เวียดนาม เครื่องดื่มรสชาติแปลกใหม่ที่ใช้ไข่แดงตีกับน้ำตาลทรายหรือนมข้นหวานจนขึ้นฟูเป็นฟองครีมเหนียวนุ่ม แล้วเติมส่วนผสมอื่นๆ ลงไปตามสูตร ก่อนนำไปโปะไว้ด้านบนของกาแฟดำอันเข้มข้น ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กาแฟร้อนธรรมดาๆ ได้อย่างประสบความสำเร็จ

แต่ถึงจะต้องแบกรับต้นทุนสูงขึ้น ร้านกาแฟเก่าแก่แห่งนี้ก็ยืนยันว่าจะไม่ปรับราคากาแฟขึ้นจากปัจจุบันที่ขายอยู่แก้วละ 35,000 ดอง(1.38 ดอลลาร์)ถูกกว่าราคากาแฟสตาร์บัคส์ ที่มีสาขาตามย่านสำคัญต่างๆ ทั่วกรุงฮานอยประมาณครึ่งหนึ่ง

“เราไม่สามารถขึ้นราคาได้ง่ายๆ เมื่อนึกถึงลูกค้าขาประจำที่มาดื่มกาแฟที่ร้านเราตั้งแต่รุ่นคุณปู่ซึ่งเป็นผู้ก่อตั่้งร้านกาแฟแห่งนี้”ตัวแทนร้านกาแฟ กล่าว ร้านกาแฟจึงแก้ปัญหาต้นทุนเพิ่มด้วยการหารายได้เพิ่มด้วยการขายขนมปังอบและเมล็ดกาแฟสด

ทั้งนี้ ราคาเมล็ดกาแฟพันธุ์โรบัสต้าซื้อขายล่วงหน้าในกรุงลอนดอนช่วงปลายเดือนเม.ย.ปรับตัวสูงขึ้นทำสถิติรอบใหม่ โดยอยู่ที่ 4,500 ดอลลาร์/ตัน สูงกว่าราคาช่วงปลายปีที่แล้วอยู่มาก

เวียดนามเป็นประเทศที่ผลิตเมล็ดกาแฟรายใหญ่สุดอันดับ 2 ของโลกและเป็นประเทศที่ผลิตกาแฟโรบัสต้ารายใหญ่สุดของโลกแต่ตอนนี้เกษตรกรชาวเวียดนามหันไปปลูกทุเรียนกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสู้ต้นทุนการเพาะปลูกกาแฟโรบัสตาที่สูงขึ้นและให้ผลผลิตน้อยจากภัยแล้งไม่ไหว

เวียดนามส่งออกทุเรียน ฉายา “ราชาแห่งผลไม้” ไปจีนคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 มากกว่าปีก่อนหน้านี้กว่า 5 เท่าตัว และคาดว่าปีนี้จะส่งออกทุกเรียนไปจีนได้เพิ่มขึ้น

การหันไปปลูกทุเรียนของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟทำให้พื้นที่เพาะปลูกต้นกาแฟลดน้อยลง ส่งผลให้ผลผลิตกาแฟลดตามไปด้วย ขณะที่การตัดไม้ทำลายพื้นที่ป่าทำให้เกิดความแห้งแล้งในพื้นที่ปลูกกาแฟ ก็ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของกาแฟเวียดนาม เพราะกาแฟดีที่คนส่วนใหญ่ชื่นชอบต้องมีความฉ่ำ ปลูกใต้ป่าสมบูรณ์ที่มีร่มเงา

รายงานจากองค์การกาแฟระหว่างประเทศ ระบุว่า ผลผลิตกาแฟโดยรวมของเวียดนามอยู่ที่ 29.2 ล้านถุง(ปริมาณ 60 กก.)ในช่วงเดือนต.ค.ปี 2565 และก.ย.ปี 2566 ลดลงปีละ 9.8%

“อากาศร้อนเกินไปและน้ำก็มีไม่เพียงพอ ทำให้ผลผลิตกาแฟน้อย” แม่ค้าเมล็ดกาแฟคนหนึ่งจากโฮจิมินห์ ซิตี้ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม กล่าว โดยเธอทำสัญญากับไร่กาแฟแห่งหนึ่งในจังหวัดดก หน่อง แต่ต้นกาแฟที่ไร่นี้ให้ผลผลิตน้อยมากเพราะปัญหาสภาพอากาศแล้งที่กินระยะเวลานาน

ขณะที่มารุเบนิ บริษัทการค้าสัญชาติญี่ปุ่น มีความเห็นว่า ตัวแปรสำคัญอีกประการที่ส่งผลต่อตลาดกาแฟเวียดนามคือ บริษัทรายใหญ่ทั้งในสหรัฐและในสหภาพยุโรป(อียู)กำลังเปลี่ยนจากการบริโภคเมล็ดกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าราคาแพง ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตในอเมริกากลางและอเมริกาใต้มาเป็นเมล็ดพันธุ์โรบัสต้าที่มีราคาถูกกว่ามากเพื่อรับมือกับต้นทุนขนส่งและราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น

ตัวแปรเชิงโครงสร้าง เช่น การบริโภคกาแฟที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในจีน เป็นอีกปัจจัยที่หนุนให้ราคากาแฟโรบัสต้าปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่เดือนต.ค.ปี 2565 ถึงเดือนก.ย.ปี 2566 การบริโภคกาแฟในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีปริมาณรวม 44.5 ถุง มากกว่า 1 ใน 4 ของปริมาณการบริโภคโดยรวมทั่วโลก และเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับ 4 ปีก่อนหน้านี้ ขณะที่การบริโภคทั่วโลกเติบโตแค่ 1% ในช่วงเวลาดังกล่าว

ตอนนี้ไลฟ์สไตล์ชาวเวียดนามทั้งชาย-หญิงเปลี่ยนไป นิยมนั่งดื่มและพูดคุยกันในร้านกาแฟจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวัน แม้ว่าเวียดนามเพิ่งเริ่มปลูกต้นกาแฟในช่วงที่ยังตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสศตวรรษที่ 19 จนกระทั่งช่วงทศวรรษที่ 1980 การดื่มกาแฟก็เริ่มได้รับความนิยม และความต้องการบริโภคกาแฟในเวียดนามก็เติบโตขึ้นต่อเนื่องเพราะผลพวงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ส่วนการบริโภคกาแฟในกลุ่มประเทศที่ผลิตกาแฟส่วนใหญ่มักบริโภคเมล็ดกาแฟเกรดต่ำ ที่ไม่เหมาะส่งออกไปขายในต่างประเทศ แต่เมื่อกาแฟสดแบรนด์ดังอย่างสตาร์บัคส์ และเชนกาแฟอื่นๆเริ่มเข้ามาตั้งเครือข่ายกันมากขึ้่น พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป ทำให้ความต้องการเมล็ดกาแฟคุณภาพสูงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/world/1125695