A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

NEWS

    

ร้านกาแฟเดือดทะลุปรอท บิ๊กแบรนด์เปิดศึกชิงลูกค้า

“ร้านกาแฟ"

“ร้านกาแฟ” ยังเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนสาขาของร้านกาแฟแบรนด์ต่าง ๆ ที่ทยอยเปิดเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ๆ ทั้งตามศูนย์การค้า อาคารพาณิชย์ อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ไม่เว้นแม้แต่ในตรอก ซอก ซอย ย่านชุมชน สอดคล้องกับตัวเลขการ “ดื่มกาแฟ” ของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยตัวเลขขยับขึ้นมาใกล้ ๆ 2 แก้ว/วัน/คน หรือมากกว่า 300 แก้ว/คน/ปี จากในอดีตที่ผ่านมาที่ตัวเลขเฉลี่ยอยู่ในระดับ 100 แก้ว/คน/ปี

ขณะที่หลายประเทศมีอัตราการบริโภค 3-4 แก้ว/วัน/คน ซึ่งตัวเลขนี้สะท้อนว่าตลาดยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้มากขึ้น

“แฟรนไชส์” หัวหอกขยายสาขา

จากแนวโน้มของตลาดที่ยังมีโอกาสจะเติบโตได้อีกมาก ล่าสุดจากการสำรวจพบว่าผู้ประกอบการร้านกาแฟรายใหญ่ต่างประกาศเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่อง ด้วยรูปแบบแฟรนไชส์ที่มีหลากหลายโมเดล เช่น กรณีของ “ซีพี ออลล์” เจ้าตลาดร้านสะดวกซื้อที่ยังทยอยเปิดร้านกาแฟ “ออลล์ คาเฟ่” ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นอย่างต่อเนื่อง จากที่ผ่านมาที่เปิดไปแล้วไม่ต่ำกว่า 11,000 สาขา จากสาขาของร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่มีมากกว่า 14,500 สาขา

นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา “ออลล์ คาเฟ่” ยังได้เปิดเกมใหม่ ด้วยการเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์ 4EVE เกิร์ลกรุ๊ปวงดัง รวมทั้งมีการปรับโฉมแบรนด์ให้ทันสมัยมากขึ้น พร้อมเพิ่มเครื่องดื่มให้มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสมูทตี้ น้ำผลไม้ ช็อกโกแลตเย็น ปังเย็น เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ จากเดิมที่เฉพาะเครื่องดื่ม ชา กาแฟ เท่านั้น

นี่ยังไม่รวมถึงร้านกาแฟแบรนด์อื่น ๆ ของซีพี ออลล์ที่ยังทยอยขยายเครือข่ายสาขาเพิ่มเป็นระยะ ๆ เช่น ร้านกาแฟ เบลลินี่ (Bellinee’s) ที่วันนี้มีมากกว่า 130 สาขา เป็นต้น

ไม่ต่างจาก “คาเฟ่ อะเมซอน” ร้านกาแฟในเครือ ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือโออาร์ ที่ยังเดินหน้าขยายสาขาด้วยโมเดลแฟรนไชส์ต่อเนื่อง ทั้งในปั๊มและนอกปั๊ม โดยเฉพาะอาคารสำนักงาน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ย่านชุมชนต่าง ๆ หลังจากที่เปิดไปแล้วมากกว่า 4,552 สาขา เป็นสาขาในประเทศ 4,159 สาขา และต่างประเทศ 393 สาขา

ส่วนร้านกาแฟ “พันธุ์ไทย” ในเครือพีทีจี เอ็นเนอยี หลังจากปี 2566 ที่ผ่านมา ได้เริ่มขยายสาขาด้วยระบบแฟรนไชส์ด้วยรูปแบบร้านที่หลากหลาย อาทิ สแตนด์อะโลน ฟู้ดทรัก คีออสก์ เป็นต้น ด้วยงบฯลงทุนเริ่มต้น 1.3 ล้านบาท ตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มอีก 400 สาขาทั่วประเทศ ด้วยการมุ่งขยายสาขาออกไปในต่างจังหวัดและอำเภอ จากปัจจุบันที่มีสาขาครอบคลุมกว่า 50% ของอำเภอทั้งหมดในประเทศ ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ด้วยการเดินหน้าขยายสาขานอกปั๊ม เน้นขยายสาขาในย่านใจกลางเมืองและย่านธุรกิจ รวมถึงเมืองท่องเที่ยว และหัวเมืองในต่างจังหวัด

เช่นเดียวกับ “อินทนิล” ในเครือบางจากคอร์ปอเรชั่น ที่เมื่อสิ้นปี 2566 มี 1,020 สาขา ตั้งเป้าว่าจะเปิดให้ครบ 2,500 สาขา ภายใน 4-5 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 300-400 สาขา โดยจะเน้นการขยายสาขาออกไปยังตลาดต่างจังหวัด โดยเฉพาะการบุกไปในระดับอำเภอ ด้วยการเปิดสาขาทั้งในปั๊มและนอกปั๊ม ทั้งศูนย์การค้า โรงพยาบาล อาคารสำนักงาน สถาบันการศึกษา

ขณะที่ผู้บริหารร้านกาแฟแฟรนไชส์รายหนึ่งกล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้แฟรนไชส์ร้านกาแฟได้รับความสนใจจากนักลงทุนและผู้ที่ต้องการจะมีอาชีพเสริมมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจจะเนื่องมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมที่มีทิศทางที่ดีขึ้น และเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินกับสถาบันการเงิน ที่อัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำและไม่จูงใจ ประกอบกับร้านกาแฟเป็นธุรกิจที่มีเงินสดหรือมีรายได้เข้ามาทุกวัน ซึ่งตอนนี้มีผู้สนใจติดต่อเข้ามามาก และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในแง่ของการตัดสินใจการลงทุนก็เร็วขึ้นด้วย

กาแฟราคาพุ่งไม่หยุด

แหล่งข่าวจากวงการร้านกาแฟอีกรายหนึ่งแสดงความเห็นว่า ตอนนี้แม้ทุกค่ายจะเดินหน้าเปิดสาขาเพิ่ม โดยใช้โมเดลแฟรนไชส์เป็นหัวหอก แต่ทุกค่ายต่างก็กำลังประสบปัญหาเรื่องต้นทุนการดำเนินงานที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบหลัก คือเมล็ดกาแฟที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากขณะนี้ราคาในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้ราคาใกล้ ๆ 4,000 เหรียญ/ตัน ถือเป็นราคาสูงสุดในรอบนับสิบปี จากสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้แหล่งผลิตกาแฟรายใหญ่ของโลกอย่างบราซิล (อราบิก้า) และเวียดนาม (โรบัสต้า) ได้รับความเสียหาย ปริมาณผลผลิตเมล็ดกาแฟลดลง ทำให้ราคากาแฟในตลาดโลกพุ่งขึ้น

นอกจากเรื่องสภาพอากาศที่เป็นปัญหาแล้ว ผลกระทบจากภาวะสงครามที่เกิดขึ้นยังทำให้ค่าขนส่งทางเรือขยับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย และเป็นปัญหาหนักมาก ล่าสุดเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซัพพลายเออร์วัตถุดิบหลาย ๆ อย่างก็ได้ทยอยแจ้งปรับขึ้นราคามาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนม น้ำตาล ไซรัป โกโก้ บรรจุภัณฑ์

“ตอนนี้วัตถุดิบราคาปรับขึ้นไม่หยุด เบื้องต้นเราก็ต้องพยายามบริหารจัดการให้ดี นอกจากนี้ ก็ยังเรื่องของค่าไฟ ค่าน้ำมัน ที่อยู่ในเทรนด์ขาขึ้น และหากมีการประกาศขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอีกก็คงหนัก และหากเป็นเช่นนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะต้องมีการปรับราคาขึ้นอีกครั้ง ซึ่งหากถามใจผู้ประกอบการ เราไม่อยากปรับราคาขึ้นหรอก เราก็อยากจะเสิร์ฟกาแฟแบบคนซื้อง่ายขายคล่องมากกว่า เพราะกําลังซื้อผู้บริโภคก็ไม่ค่อยดี แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์มากกว่า ตอนนี้พูดยาก”

แข่งหนัก-ลดราคาแย่งลูกค้า

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการร้านกาแฟย้ำว่า ขณะนี้แม้ว่าภาพรวมของตลาดร้านกาแฟจะยังมีศักยภาพในการเติบโต แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมที่ฟื้นตัวช้า และส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ก็ส่งผลให้ตลาดมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น หลัก ๆ เป็นการแข่งขันเพื่อดึงเงินออกจากกระเป๋าผู้บริโภค สะท้อนจากภาพความเคลื่อนไหวของแบรนด์ใหญ่ทุนหนาที่มีการทุ่มงบฯการตลาด โดยมีการจัดโปรโมชั่นที่โฟกัสการลดราคาในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลาย อย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ เพื่อกระตุ้นการซื้อของลูกค้าเดิมหรือสมาชิก ด้วยกลยุทธ์ซีอาร์เอ็ม และขยายฐานออกไปยังกลุ่มใหม่ ๆ

“ตลาดในภาพรวมเงียบกว่าที่ควรจะเป็น ยอดขายตกตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การแข่งขันดุเดือดมากขึ้น ทั้งในส่วนของออฟไลน์และออนไลน์”

จากการสำรวจแคมเปญการตลาดของร้านกาแฟแบรนด์ดังหลาย ๆ ค่าย ส่วนใหญ่จะเน้นการลดราคาในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการซื้อเพิ่มหรือซื้อซ้ำ เช่น ซื้อแก้วที่ 2 ลดราคา 50% หรือซื้อ 1 แถม 1 หรือซื้อ 2 แถม 1 หรือซื้อเป็นเซต เครื่องดื่มและเบเกอรี่ราคาพิเศษ เป็นต้น หรือในโอกาสการเปิดตัวเครื่องดื่มหรือเบเกอรี่ใหม่ ก็จะมีการลดราคาเพื่อกระตุ้นเป็นระยะ ๆ

ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สะท้อนภาพของตลาดร้านกาแฟที่มีมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 3 หมื่นล้านบาทในอนาคตได้ไม่มากก็น้อย

การรุกคืบที่หนักหน่วงของบรรดาแบรนด์ใหญ่ ไม่เพียงแต่จะทำให้ตลาดเติบใหญ่ขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็จะทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กต้องเร่งปรับตัวมากขึ้น…ต้องติดตาม

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/marketing/news-1551277