A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

NEWS

    

“ภูมิธรรม” ชี้เป้าส่งออกอาหารว่างจำพวกโปรตีนขายในสหรัฐ แนะใช้อินฟลูฯช่วยทำตลาด

“Protein

“ภูมิธรรม” ชี้เป้าส่งออกอาหารว่างจำพวกโปรตีนขายสหรัฐ หลังความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แนะใช้อินฟลูเอนเซอร์แนะนำและเปิดตัวสินค้า

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์นิวยอร์ก ถึงโอกาสของอาหารว่างจำพวกโปรตีน (Protein Snack) ในสหรัฐ ที่กำลังเติบโตจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น จากการที่ผู้บริโภคตระหนักถึงประโยชน์และบทบาทของโปรตีนในการสร้างกล้ามเนื้อและทำให้ร่างกายอิ่มนานมากขึ้น

ประกอบกับตารางเวลาที่จำกัด ทำให้ผู้บริโภคมองหาของขบเคี้ยวที่สามารถพกพาสะดวกและมีประโยชน์ต่อร่างกาย และความหลากหลายของอาหารว่างจำพวกโปรตีนในตลาดปัจจุบัน ทั้งจากพืชและจากสัตว์ ยังช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารจำพวกโปรตีนเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ในปี 2566 อาหารว่างจำพวกโปรตีน มียอดการจำหน่ายประมาณ 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วงปี 2567-2572 น่าจะมีการขยายตัวเฉลี่ย 9.3% และ Market Data Forecast ยังคาดว่าในปี 2572 ตลาดอาหารว่างจำพวกโปรตีนน่าจะมีมูลค่าถึง 7,640 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับประเภทของอาหารว่างจำพวกโปรตีนในตลาดสหรัฐ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ 1.ของว่างประเภทแท่ง เช่น เนยถั่วแท่ง โปรตีนช็อกโกแลตชิปแท่ง กราโนล่าแท่ง และผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร และ 2.ของว่างที่ไม่ใช่แท่ง เช่น ธัญพืชผสมผลไม้แห้ง เนื้ออบแห้ง โยเกิร์ต ถั่วเหลืองอ่อน ขนมขบเคี้ยวกรุบกรอบที่ทำมาจากธัญพืช อาทิ ถั่วชิกพี ถั่วเลนทิลหรือแป้งข้าวกล้อง เนยถั่วแบบพกพา และสมูทตี้ (protein smoothie) เป็นต้น

ส่วนกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายของอาหารว่างจำพวกโปรตีนในสหรัฐ แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มบุคคลที่ใส่ใจสุขภาพ เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ และต้องการผนวกโปรตีนเข้ากับอาหาร

2.กลุ่มบุคคลที่มีไลฟ์สไตล์ที่กระฉับกระเฉง เช่น นักกีฬา ผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายและผู้ที่ต้องใช้พลังงานมาก

3.กลุ่มบุคคลที่มีตารางชีวิตค่อนข้างแน่น หรือมีอาชีพการงานที่ค่อนข้างยุ่งวุ่นวาย นิยมพึ่งพาของว่างที่พกพาสะดวกเพื่อเติมพลังงานตลอดทั้งวัน และ

4.กลุ่มผู้บริโภคที่ควบคุมอาหารและมีความต้องการเฉพาะเจาะจง เช่น อาหารที่มีโปรตีนสูงคาร์โบไฮเดรตต่ำ อาหารวีแกนหรืออาหารมังสวิรัติ

ทางด้านช่องทางการจำหน่าย มีหลายช่องทาง ดังนี้

1.ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต ได้แก่ Walmart, Target, Kroger และ Meijer

2.ร้านสะดวกซื้อ เช่น 7-Eleven, Wawa และ Casey’s

3.ร้านค้าเฉพาะทาง เช่น ร้านขายอาหารเพื่อสุขภาพ ได้แก่ Whole Foods Market, Sprouts Farmers Market และ GNC และ

4.ช่องทางออนไลน์ เช่น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ Amazon และร้านค้าปลีกออนไลน์เฉพาะที่เชี่ยวชาญด้านขนมเพื่อสุขภาพกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก

“จากการเติบโตของอาหารว่างจำพวกโปรตีน เป็นโอกาสของผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ของกินเล่นจำพวกถั่ว หนังไก่อบกรอบ ปลาอบแห้ง สาหร่ายอบกรอบ อาหารว่างที่ทำจากพืชและอื่น ๆ ซึ่งต้องเน้นปริมาณโปรตีนและประโยชน์บนบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจน รสชาติต้องมีเอกลักษณ์ความเป็นไทย เช่น รสชาติเผ็ดร้อนจากต้มยำ รสชาติหวานเผ็ดจากน้ำจิ้มไก่ และรสชาติเผ็ดร้อนของน้ำจิ้มซีฟู้ด ต้องมีความหลากหลาย เช่น เนื้อแดดเดียว เค้กข้าวเพิ่มโปรตีน ถั่วและเมล็ดพืชผสมผงปรุงรสหรือผลไม้ที่มีประโยชน์ หนังไก่อบแห้งและอื่น ๆ และควรหาช่องทางบุกตลาดผ่านออนไลน์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการทดลองสินค้าใหม่ ๆ ด้วยการใช้อินฟลูเอนเซอร์ มาช่วยรีวิวสินค้า ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยมีโอกาสเข้าถึงตลาดสหรัฐได้เพิ่มขึ้น” นายภูมิธรรมกล่าว

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/economy/news-1529554