A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

NEWS

    

กิน ‘ไข่ดิบ’ เสี่ยงติดเชื้อ ท้องเสียหนัก 10 วัน ไม่มั่นใจปลอดภัย อย่าเสี่ยงกิน

“ไข่ดิบ"

ไข่ดิบมีเชื้อ “ซัลโมเนลลา” เสี่ยงท้องร่วง-ไข้สูง-ถ่ายเป็นเลือด แนะกิน “ไข่สุก” ปลอดภัยสุด เก็บไข่ในตู้เย็นอุณหภูมิต่ำ ยิ่งอากาศร้อน ยิ่งเสี่ยงแบคทีเรียเพิ่มจำนวน หากบริโภค “ไข่ดิบ” ต้องมั่นใจว่า ผ่านการ “พาสเจอร์ไรส์” มาแล้วเท่านั้น

การบริโภค “ไข่ดิบ” ได้รับความนิยมพร้อมกับเทรนด์การกินอาหารในรูปแบบ “สุกี้ยากี้” และ “ชาบูชาบู” โดยมีทั้งการนำไข่แดงไปดองซีอิ๊วแล้วนำมาคลุกกินกับข้าวสวย รวมถึงการจุ่มเนื้อสัตว์ปรุงสุกคลุกเคล้ากับไข่ดิบ ช่วยให้รสชาติของอาหารอร่อยน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น

แต่การกินไข่ดิบก็นำมาสู่คำถามมากมายว่า แท้จริงแล้วการบริโภคในลักษณะนี้ปลอดภัยหรือไม่ ไข่ดิบในบ้านเรานำมาบริโภคได้จริงรึเปล่า และอันตรายของการกินไข่ที่ไม่ผ่านความร้อนจะนำมาสู่อันตรายแบบใดได้บ้าง

กิน “ไข่สุก” ได้คุณประโยชน์มากกว่า

เป็นที่รู้กันว่า การกินไข่มีประโยชน์มากมาย โดยในไข่ไก่ 1 ฟอง มีปริมาณโปรตีนมากถึง 6 - 7 กรัม และยังมีแร่ธาตุอีกมากมายตั้งแต่วิตามินบี วิตามินดี ลิวซีน เลซิติน ฯลฯ ที่มีส่วนช่วยให้การเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานของสมองและความคิด

หากถามว่า กิน “ไข่ดิบ” หรือ “ไข่สุก” แบบไหนให้คุณค่าทางโภชนาการมากกว่ากัน อันดับแรกต้องถอดความหมายของคำว่า “ไข่สุก” กันก่อน โดยไข่สุกที่ว่านี้ คือ “ไข่ขาว” เป็นสีขาว ไม่เป็นสีใสๆ ส่วน “ไข่แดง” สามารถอยู่ในลักษณะของไข่ยางมะตูมหรือจะเป็นไข่สุกทั้งหมดเลยก็ได้เช่นกัน ข้อมูลจากเว็บไซต์ “โรงพยาบาลสมิติเวช” ระบุว่า มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการกินไข่ที่ “ไข่ขาว” ยังอยู่ในลักษณะดิบจะทำให้ร่างกายได้รับโปรตีนจากไข่ไก่ลดลง มีการดูดซึมโปรตีนได้เพียง 51% หากไข่ 1 ฟอง มีโปรตีน 6 - 7 กรัม ร่างกายจะดูดซึมได้เพียง 3 กรัมเท่านั้น

กิน “ไข่ดิบ” อันตราย มีเชื้อแบคทีเรีย ป่วยหนัก ลำไส้แปรปรวน

นอกจากคุณประโยชน์จะลดลง “ไข่ดิบ” ยังมีเชื้อแบคทีเรียอย่าง “ซัลโมเนลลา” (Salmonella) เชื้อแบคทีเรียที่อยู่บนเปลือกไข่ และมีโอกาสเล็ดลอดเข้าสู่เนื้อไข่ได้ด้วย โดยจากการศึกษาพบว่า ในจำนวนไข่ 20,000 ฟอง จะมีไข่ที่มีเชื้อ “ซัลโมเนลลา” ปนเปื้อนอยู่ด้านใน 1 ฟอง ซึ่งสาเหตุของการปนเปื้อนก็มาจากตัวแม่ไก่ที่ออกไข่บางตัวมีเชื้อเหล่านี้อยู่ รวมถึงอาจมีการปนเปื้อนจากภายนอกในขั้นตอนการเก็บไข่และการขนส่ง ฉะนั้น การกินไข่ที่ไม่ผ่านความร้อนจึงมีโอกาสที่จะทำให้เราได้รับเชื้อเหล่านี้

สาเหตุที่ทำให้แม่ไก่มีเชื้อ “ซัลโมเนลลา” เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งจำนวนไก่หรือเป็ดในฝูงปริมาณมาก ความเครียดหรือความกังวลของสัตว์ อาหารเลี้ยงสัตว์ การฉีดวัคซีนป้องกัน รวมถึงความสะอาด-สุขอนามัยในฟาร์มก็ด้วย

สำหรับผู้ที่รับประทานไข่ดิบแล้วมีอาการติดเชื้อ “ซัลโมเนลลา” จะมีระยะฟักตัวของเชื้อตั้งแต่หลักชั่วโมงไปจนถึง 6 วันก็มี โดยอาการที่ปรากฏมีตั้งแต่ปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด อาเจียน ปวดหัว เป็นไข้ หนาวสั่น และเบื่ออาหาร โดยปกติแล้วอาการเหล่านี้จะคงอยู่ราว 2 - 7 วัน และอาการท้องเสียจะคงอยู่ราว 10 วัน ซึ่งต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูหลายเดือนกว่าลำไส้จะกลับมาทำงานเป็นปกติ

เลี้ยงแบบ “Cage Free” ไม่ได้แปลว่า “ปลอดภัย”

การเลี้ยงไก่แบบ “Cage Free” หรือเลี้ยงระบบเปิด ช่วยลดความเครียดของไก่ ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า ไข่ไก่เหล่านั้นจะนำมารับประทานโดยไม่ผ่านความร้อน-การปรุงสุกได้ เพียงแต่กรรมวิธีการเลี้ยงดังกล่าวช่วยป้องกันเชื้อโรคจากภายนอกได้ดีกว่าการเลี้ยงในกรงที่แออัดเบียดเสียด

หากต้องการรับประทาน “ไข่ดิบ” ต้องมั่นใจก่อนว่า ไข่เหล่านั้นผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรส์มาแล้ว และหากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงอย่างผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการกินไข่ดิบ และรับประทานแบบปรุงสุกจะดีที่สุด นอกจากจะตัดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคออกไปแล้ว ยังได้รับคุณประโยชน์มากกว่าด้วย

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1108354