A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

NEWS

    

‘สีส้ม’ ในชาไทย อันตรายหรือไม่? ทำไมถูกแบนในบางประเทศ

“ชาไทย"

ไม่ใช่สีธรรมชาติแต่เป็นผงสังเคราะห์? เปิดที่มาชาไทยสีส้มสดใส แท้จริงแล้วมาจาก “Sunset Yellow FCF” สีสังเคราะห์เพื่อการผสมอาหาร ซึ่งสหภาพยุโรปมีมติแบน หลังมีงานศึกษาชี้ อาจมีส่วนให้เด็กสมาธิสั้น-เชื่อมโยงโรคร้ายแรงแต่ไม่ใช่สาเหตุโดยตรง

“ชาไทย” หรือ “ชาเย็น” ได้รับการจัดอันดับจาก “TasteAtlas” เว็บไซต์รวบรวมร้านอาหาร สูตรอาหาร และวัตถุดิบจากท้องถิ่นทั่วโลก ติด 1 ใน 10 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่คะแนนดีที่สุดในโลก โดยเครื่องดื่มชาไทยสีส้มที่เราคุ้นเคยเป็นการนำ “ชาซีลอน” มาดัดแปลงด้วยการปรับสีและกลิ่น รวมทั้งยังมีการเติมนมและน้ำตาลเข้าไปเพื่อให้รสชาติกลมกล่อมถูกปากมากขึ้น นอกจากคนไทยจะนิยมดื่มชาไทยกันอย่างแพร่หลายต่างชาติเองก็ให้ความสนใจเมนูนี้เช่นกัน เห็นได้จากคิวหน้าร้านตามห้างสรรพสินค้าที่ได้รับความสนใจกันอย่างเนืองแน่น

อย่างไรก็ตามกลับพบว่า ชาไทยสีส้มที่เราคุ้นเคยมีหน้าตาที่แตกต่างออกไปในต่างประเทศ จากสีส้มเข้มกลายเป็นสีน้ำตาลอ่อนคล้ายกับโกโก้หรือโอวัลตินมากกว่า ซึ่งในเวลาต่อมาก็พบว่า แท้จริงแล้วนี่คือสีน้ำตาลที่แปลกตาเช่นนี้เป็นสีของ “ชาไทย” หรือ “ชาเย็น” แบบดั้งเดิม ทว่าสีส้มที่หลายคนคุ้นเคยกันนั้นเกิดจากการใส่สีผสมอาหารเพื่อให้เครื่องดื่มน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น

ผงชาไทยสำเร็จรูปที่ส่งออกไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศแถบยุโรปมีข้อห้ามใช้สีผสมอาหาร “Sunset Yellow FCF” ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักที่ทำให้ผงชาไทยมีสีส้มเข้ม ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า สีผสมอาหารที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้อันตรายต่อร่างกายหรือไม่ และสีเหล่านี้ส่งผลกับรสชาติหรือความอร่อยอย่างไร

“ชาไทย” สีส้ม “ชาซีลอน” สีน้ำตาล

จากข้อมูลตามประวัติศาสตร์พบว่า คนไทยรู้จักการดื่มชามานานมากแล้ว โดยมีหลักฐานที่ระบุถึงวัฒนธรรมการดื่มชาในไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาผ่านบันทึกเกี่ยวกับการดื่มชาในจดหมายเหตุลาลูแบร์ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หลังจากนั้นวัฒนธรรมการดื่มชาในไทยก็มีวิวัฒนาการเรื่อยมาตั้งแต่การเริ่มนำนมข้นหวานและน้ำแข็งมาใส่ กระทั่งในช่วงรัชกาลที่ 6 พบว่า ประเทศไทยมีร้านกาแฟโบราณเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่า ยุคนี้เป็นยุคที่คนไทยรู้จักการ “ใส่นม” ในเครื่องดื่มชา

“ชาเย็น"

สำหรับสีของชาไทยที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับชาสัญชาติอื่นๆ เนื่องจาก “ชาไทย” มีการเติมสีผสมอาหารลงไปในผงชาด้วย โดยผู้ผลิตชาไทยมักเติมสีผสมอาหารสีเหลืองและสีแดงในใบชาแห้งระหว่างกระบวนการผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้สีของชาไทยน่ารับประทาน โดยการเติมสีผสมอาหารสังเคราะห์ลงในใบชาแห้งเป็นที่แพร่หลายและได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้ผลิตไทย

หากถามว่า สีของใบชามีผลต่อกลิ่นและรสชาติของชาไทยหรือไม่ คำตอบคือ ไม่มีผลต่อรสชาติ เพียงแต่ที่เราเห็นถึงความเข้ม-ความอ่อนของสีชานั้นมาจากปริมาณการใส่ที่มาก-น้อยแตกต่างกัน หากใส่ส่วนผสมที่เป็นนมมากก็จะทำให้สีชาไทยอ่อนลง รสชาติก็จะมีความนัวจากส่วนผสมของนมมากกว่า

สีผสมอาหารอันตรายหรือไม่?

กรณีการแบนสีผสมอาหารในโซนยุโรปนำไปสู่คำถามที่ว่า หากสีสังเคราะห์เหล่านี้ไม่ปลอดภัยแล้วทำไมบ้านเราจึงสามารถใช้เป็นส่วนผสมได้

เนื่องจากในประเทศในสหภาพยุโรปมีข้อห้ามนำเข้าสินค้าที่มีส่วนผสมของ “Sunset Yellow FCF” หรือสีสังเคราะห์ให้สีเหลืองถึงสีส้ม โดยหน่วยงานภาครัฐอย่าง “สำนักงานมาตรฐานอาหารของประเทศอังกฤษ” (Food Standards Agency: FSA) เรียกร้องให้ภาครัฐยกเลิกการใช้สีสังเคราะห์อาหาร 6 สีภายในปี 2552 ทั้งยังเรียกร้องให้เลิกใช้ทุกประเทศในสหภาพยุโรปด้วย โดยสีทั้ง 6 มีรายชื่อดังต่อไปนี้ “Tartrazine” “Quinoline Yellow” “Sunset Yellow” “Carmoisine” “Ponceau 4R” และ “Allura Red”

ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักข่าว “ดิ อินดิเพนเดนต์” (The Independent) ระบุว่า สีเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับภาวะสมาธิสั้นในเด็ก จากการศึกษาในกลุ่มเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษา จัดทำขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน (University of Southampton) พบว่า สีผสมอาหารทำให้เด็กนักเรียนเสียสมาธิ และไม่สามารถผ่านการทดสอบได้ ทั้งนี้กลุ่มนักวิจัยคาดว่า 30% ของเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น (ADHD) สามารถป้องกันได้หากบริษัทผู้ผลิตต่างๆ เลิกใช้สีสังเคราะห์ผสมอาหาร

หากถามว่า สีผสมอาหารเหล่านี้เป็นอันตรายหรือไม่ เว็บไซต์ “Hello Khunmor” ระบุว่า มีงานศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า สีผสมอาหารเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพร้ายแรง แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่า สีผสมอาหารเหล่านั้นเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพโดยตรง สำหรับบางคนอาจเกิดอาการแพ้สีผสมอาหารในปัจเจกบุคคลแต่ไม่ใช่สาเหตุอาการป่วยทั้งหมดนั่นเอง

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/world/1104870