A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

NEWS

    

มหิดล เตรียมพัฒนา ‘AI ควบคุมคุณภาพอาหาร’ ที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน

“อาหาร"

ม.มหิดล เตรียมขยายผลเทคโนโลยี AI ผสมผสาน ’ตา-จมูก-ลิ้น’ ควบคุมคุณภาพอาหารและรสชาติของวัตถุดิบ ที่อาจเปลี่ยนไปเพราะสภาวะโลกร้อน

ทุกปีในประเทศช่วงหน้าแล้ง "ราคามะนาว" ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของอาหารไทย จะต้องเพิ่มสูงขึ้น จนคนต้องเปลี่ยนสูตรไปใช้วัตถุดิบอื่นทดแทน แต่ไม่สามารถรักษารสชาติดั้งเดิมอันเป็นเอกลักษณ์

หรือในต่างประเทศที่ต้องประสบปัญหาจากภาวะโลกร้อน จนทำให้ "ซอสพริก" สูตรไทยที่ดังไปไกลทั่วโลก ต้องมีราคาสูงถึงหลักพันต่อขวด เนื่องจากขาดวัตถุดิบสำคัญทางการเกษตร

ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล อาจารย์นักเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยมหิดลที่มีผลงานตีพิมพ์และอ้างอิงสูงที่สุดใน Top2% ของโลกจากการจัดอันดับโดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประจำปี 2566 เตรียมพัฒนาเทคโนโลยีควบคุมคุณภาพอาหาร สู้ปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อนด้วย AI

จากตัวอย่างงานวิจัยที่ผ่านมาซึ่งได้ริเริ่มและเห็นผลแล้ว คือ การใช้เทคโนโลยีจมูก AI คัดแยกมะพร้าวน้ำหอมส่งออกของไทย โดยสามารถควบคุมคุณภาพของรสชาติน้ำมะพร้าวน้ำหอมของไทยให้ได้ตรงตามมาตรฐาน

อีกทั้งป้องกันกลโกงจากผู้ผลิตในการปลอมปนโดยเติมน้ำตาล หรือสารให้ความหวาน ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีภาวะน้ำตาลเกิน จนอาจกลายเป็นโรคเบาหวานในผู้บริโภค ด้วยเครื่องมือตรวจสอบทั้งในระดับโรงงาน และหน้างาน

ก้าวต่อไปจะพัฒนาเทคโนโลยี AI ผสมผสาน "ตา-จมูก-ลิ้น" ที่คาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า ทั้งซัพพลายเชน ตั้งแต่ฟาร์ม จนถึงโต๊ะอาหาร จะทำให้ผู้ผลิต และผู้บริโภคมั่นใจได้ถึงคุณภาพอาหารว่าจะยังคงให้สัมผัสที่คงเดิม

โดยสามารถเชื่อมโยงไปถึงการให้ AI คอยดูแลคุณภาพชีวิต ในฐานะ "ผู้ช่วยสุขภาพ" ให้ข้อมูลประกอบการเลือกรับประทานอาหารอย่างเหมาะสมได้อีกด้วย

ทั้งนี้ มองว่าการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหาร จะช่วยเพิ่มมูลค่าได้มากกว่าการมุ่งเพียงทำตลาดส่งออก "ส่วนประกอบอาหาร" (Food Ingredients) เช่นปัจจุบัน จึงอยากขอส่งไม้ให้นวัตกรรุ่นใหม่มาช่วยกันทำให้อุตสาหกรรมอาหารไทยในวันข้างหน้าไปไกลมากกว่าในวันนี้

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1104369