A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

NEWS

    

เปิดประวัติ ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว แฟรนไชส์สตรีตฟู้ด เตรียมเข้าตลาดหุ้น

“ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว"

เปิดประวัติ ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว เรื่องราว 3 ทศวรรษ สตรีตฟู้ดบะหมี่เกี๊ยว สู่การเดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ แปรสภาพเป็น “บริษัทมหาชน”

หากพูดถึงแฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวแบบรถเข็น แบรนด์แรก ๆ ที่หลายคนพูดถึง คือ “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” แบรนด์สตรีตฟู้ดสัญชาติไทย อายุยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ ที่ปัจจุบันมีสาขาทั่วไทยมากกว่า 4 พันแห่ง และกลายเป็นที่สนใจอย่างมาก เมื่อแฟรนไชส์สตรีตฟู้ดในตำนานนี้ กำลังปรับโครงสร้างองค์กร เตรียมตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในอนาคตอันใกล้นี้

ตลอด 3 ทศวรรษ ของร้านบะหมี่เกี๊ยวแบรนด์นี้ ก่อนเดินหน้าสู่การเป็นบะหมี่เกี๊ยวของมหาชน

“ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” เริ่มต้นจากอยากมีเส้นบะหมี่ที่ดี

ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว ก่อตั้งเมื่อปี 2537 โดยนายพันธ์รบ กำลา เด็กบ้านนอกที่เรียนจบเพียงระดับชั้น ป.4 และได้ผ่านการทำงานมาแล้วหลากหลาย ตั้งแต่งานในสวน งานด้านเกษตร จนถึงโรงงานอุตสาหกรรม

จุดเริ่มต้นการขายก๋วยเตี๋ยวของพันธ์รบ มาจากการที่น้องชาย ซึ่งทำงานส่งลูกชิ้นให้ร้านอาหาร จึงชักชวนให้ทำธุรกิจขายก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นน้ำใส ต่อมาได้ขายบะหมี่เกี๊ยว โดยน้องชายอีกคนหนึ่งของพันธ์รบ ซึ่งพักอาศัยด้วยกัน เป็นผู้ติดต่อลงสินค้าให้ และเมื่อเวลาผ่านไป พบว่าเส้นบะหมี่ที่ส่งมา บางครั้งไม่ได้มาตรฐาน

จุดนั้น คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่พันธ์รบ ใช้เงินเก็บของตัวเองที่ได้จากการขายก๋วยเตี๋ยวตลอด 2 ปี ซื้อเครื่องทำเส้นบะหมี่ และใช้เวลาอีกมากกว่า 1 ปีครึ่ง เพื่อหาสูตรเส้นบะหมี่ที่ดี มีเอกลักษณ์

และการทำธุรกิจแบบแฟรนไชส์ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อพันธ์รบ เดินทางกลับไปที่บ้านเกิด และเพื่อนฝูง พี่ น้อง ในหมู่บ้านเดียวกันของพันธ์รบ สนใจในธุรกิจดังกล่าว เพราะเห็นว่าได้รายได้ดี พันธ์รบจึงช่วยจัดการเรื่องการขายก๋วยเตี๋ยวให้ ตั้งแต่การหาทำเลการขาย จนถึงการหาบ้านเช่า และเมื่อทุกคนได้กำไรดี ทำให้มีการบอกต่อแบบปากต่อปากเกิดขึ้น

“ทีวี” จุดรู้จักทั่วประเทศ

เวลาเพียง 2 ปีของการก่อตั้ง ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว จำนวนสาขาเติบโตเร็วขึ้น และกระจายไปทั่วประเทศ จนแตะหลัก 200 สาขาในปี 2539

ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว กลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง เมื่อพันธ์รบ ได้นำธุรกิจของเขา ไปออกรายการ “เกมแก้จน” ทาง ททบ.5 ซึ่งขณะนั้นนับเป็นรายการเกมโชว์ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก จากการนำเรื่องราวธุรกิจทั้งใหญ่และเล็กมาบอกเล่าถึงความสำเร็จและความล้มเหลว ท่ามกลางยุควิกฤตต้มยำกุ้ง และ “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้ออกรายการดังกล่าวด้วย

ผลของการออกรายการในครั้งนั้นทำให้ลูกค้าสนใจโทรเข้ามาสอบถามเรื่องแฟรนไชส์เป็นจำนวนมาก และจากจุดนั้นเองทำให้ในปัจจุบัน ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว มีจำนวนแฟรนไชส์มากกว่า 4,000 สาขา

และด้วยจำนวนสาขาที่มีทั่วประเทศ จึงสามารถนำมาต่อยอดทางธุรกิจได้มากมาย จึงได้มีการผลิต และสรรหาสินค้าต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มยอดขาย ให้กับลูกค้าแฟรนส์ไชส์ไม่ว่าจะเป็น หมูแดง เป็ด ผงซุปต่าง ๆ น้ำตาล พริก น้ำปลา ตะเกียบ กระเทียมเจียว และอีกมากมาย

และด้วยจำนวนสาขาที่มีทั่วประเทศนั้น ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว จึงมีโรงงานผลิตเส้นบะหมี่ พร้อมศูนย์กระจายสินค้า 7 ศูนย์ ในประเทศไทย ได้แก่

- ศูนย์คลองหก (สำนักงานใหญ่) เปิดเมื่อปี 2542

- ศูนย์มหาสารคามเปิดเมื่อปี 2545

- ศูนย์พูนพิน (จ.สุราษฎร์ธานี) เปิดเมื่อปี 2546

- ศูนย์ลำปางเปิดเมื่อปี 2547

- ศูนย์พนัสนิคม (จ.ชลบุรี ภาคตะวันออก) เปิดเมื่อปี 2548

- ศูนย์พิษณุโลกเปิดเมื่อปี 2556

- ศูนย์อุดรธานีเปิดเมื่อปี 2560

แตกแฟรนไชส์ สู่น่านน้ำใหม่

จากความนิยมในชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่าน ๆ มานั้น ต่อมาได้มีการขยายไลน์ไปสู่อาหารประเภทอื่น ๆ มากขึ้น ซึ่งชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว ได้แตกออกมาเป็นแฟรนไชส์และแบรนด์อีกหลายรูปแบบ เพื่อรองรับลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย เช่น

- พันปีบะหมี่เป็ดย่าง

- ชายใหญ่ ข้าวมันไก่

- ก๋วยเตี๋ยวไก่ ข้าวมันไก่

- อาลีหมี่ฮาลาล

- ไก่หมุนคุณพัน

- โจ๊ก ต้มเลือดหมู

- ชายสี่ ชิ้นเนื้อ

- ชายัง ชานมไข่มุก

- อารีดอย กาแฟหยอดเหรียญ

- อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง แบรนด์ชายสี่โกลด์

โดยปัจจุบัน แฟรนไชส์ของ “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” มีอยู่ในไทยมากถึง 4,500 แห่ง และมีแฟรนไชส์ในลาวอีกกว่า 100 แห่ง

4 วิสัยทัศน์ ดัน “ชายสี่” นั่งกลางใจ

ผู้บริหารชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว ระบุว่า ต้องการให้ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว เป็นไปตามวิสัยทัศน์ 4 อย่าง คือ

1. เจ้าแห่งเส้น

เพราะความที่ภาพจำของคนทั่วไป ที่มองว่าธุรกิจของชายสี่ บะหมี่เกี๊ยวคือการผลิตและขาย เส้นบะหมี่ จึงไม่ใช่เรื่องยากหากบริษัทจะดำเนินการผลิตและจำหน่าย เส้นต่าง ๆ ที่มีในธุรกิจอาหาร เช่น เส้นเล็ก เส้นใหญ่ เส้นมักกะโรนี เส้นพาสต้า เส้นขนมจีน ฯลฯ ภายใต้แบรนด์คุณภาพ ของ ชายสี่ บะหมี่เกียว จึงเป็นเป้าหมายที่ทางบริษัทจะเป็นผู้นำในการผลิตและจำหน่ายเส้นต่าง ๆ

2. รถเข็นสากล

ด้วยธุรกิจชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว มีรูปแบบเป็นรถเข็นขายอาหาร (Streetfood) ซึ่งกลายเป็นภาพลักษณ์ของ ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว ซึ่งเป้าหมายของบริษัทคือ การนำ แฟรนไชส์ รถเข็นชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว ไปสู่ต่างประเทศ ทั้งประเทศลาว (เมื่อปี 2551) ประเทศกัมพูชา (เมื่อปี 2552) และ ประเทศเมียนมา (ปี 2560) เพื่อให้แบรนด์บะหมี่เกี๊ยวของไทย ไปประสบความสำเร็จในระดับอาเซียน

3. ครัวของทุกบ้าน

ด้วยความตั้งใจที่ต้องการให้ สินค้า ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว อยู่ในห้องครัวของทุกบ้าน จึงได้มีการหาช่องทางจัดจำหน่ายสินค้า ภายใต้แบรนด์ ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว อาทิ สินค้าเส้นต่าง ๆ ผงซุป ฯลฯ หลากหลายสินค้า โดยวางจำหน่ายทางช่องทางตลาด Traditional Trade, Modern Trade เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้สินค้าคุณภาพของชายสี่ฯ โดยปัจจุบันได้มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เช่น สินค้า Frozen และ Chill เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่ชอบความสะดวก

4. อาหารของทุกคน

ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว มีเป้าหมายที่อยากจะให้คน ทุกเชื้อชาติ สามารถบริโภคอาหารคุณภาพจากชายสี่ฯได้ จึงได้มีการขอเครื่องหมาย ฮาลาล กับสินค้าบางประเภท เช่น เส้นบะหมี่ เพื่อให้คนมุสลิมสามารถบริโภคได้ และยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาสินค้าเพื่อให้เหมาะกับทุกคน ทุกชาติ ทุกศาสนา ต่อไป

เดินหน้าเป็น “บริษัทมหาชน”

จากความนิยมในแบรนด์ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว ที่มีมานานกว่า 3 ทศวรรษ ทำให้ ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว มีแนวความคิดจะนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ลูกค้าแฟรนไชส์ และประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของ ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับแบรนด์

ล่าสุด วันที่ 14 ธันวาคม 2566 นายอนุชิต สรรพอาษา กรรมการผู้จัดการบริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้บริหารแฟรนไชส์ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว เปิดเผยว่า ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กร เป็น “ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น” ในรอบ 30 ปี เพื่อสะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันได้อย่างชัดเจน พร้อมสู่การเป็น ‘สตรีตฟู้ดมหาชนของทุกคน’ ผ่านการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจแฟรนไชส์สตรีตฟู้ดในเครือ

โดยบริษัทเอง มีการเตรียมความพร้อมในหลายด้าน ทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการพัฒนาสินค้า นำเทคโนโลยีเข้ามาลดขั้นตอนและเพิ่มศักยภาพในการทำงาน ควบคู่ไปกับบริหารต้นทุนและทรัพยากร และมีการปรับโครงสร้างในการทำงาน โดยเปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพขึ้นเป็นผู้นำ รวมถึงจัดเตรียมสวัสดิการของพนักงานให้ทัดเทียมองค์กรชั้นนำของไทย

แกะผลประกอบการ “ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น”

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว เริ่มจดทะเบียนนิติบุคคล ในนาม “บริษัท ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว จำกัด” เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2543 ทุนจดทะเบียน 5,000,000 บาท ก่อนจะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 150,000,000 บาท เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด” เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566

ทั้งนี้ ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว มีผลประกอบการ 5 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2560-2564 เป็นดังนี้

พ.ศ. 2560

- รายได้รวม 291,424,084.27 บาท

- รายจ่ายรวม 268,324,522.10 บาท

- กำไรสุทธิ 17,396,401.97 บาท

พ.ศ. 2561

- รายได้รวม 835,767,481.52 บาท

- รายจ่ายรวม 800,442,492.95 บาท

- กำไรสุทธิ 24,571,122.16 บาท

พ.ศ. 2562

- รายได้รวม 1,044,662,116.96 บาท

- รายจ่ายรวม 989,558,401.98 บาท

- กำไรสุทธิ 40,754,779.18 บาท

พ.ศ. 2563

- รายได้รวม 907,149,194.23 บาท

- รายจ่ายรวม 840,992,713.10 บาท

- กำไรสุทธิ 49,933,858.15 บาท

พ.ศ. 2564

- รายได้รวม 949,058,083.00 บาท

- รายจ่ายรวม 860,882,078.00 บาท

- กำไรสุทธิ 64,819,762.00 บาท

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/marketing/news-1460319