A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

NEWS

    

น้ำดื่ม ONESIAM กระป๋องอะลูมิเนียมรีไซเคิล สยามพิวรรธน์มุ่งสู่ Zero Waste

“ONESIAM"

สยามพิวรรธน์อวดโฉมน้ำดื่มรักษ์โลก “ONESIAM” แพ็กแกจจิ้งกระป๋องอะลูมิเนียมรีไซเคิล อีกก้าว ขับเคลื่อนสู่องค์กรขยะเป็นศูนย์ หรือ Zero Waste

“สยามพิวรรธน์” ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกชั้นนำ เจ้าของและผู้บริหารโครงการระดับโลก อาทิ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ รวมทั้งเป็นหนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ เปิดตัวน้ำดื่มรักษ์โลกจากกระป๋องอะลูมิเนียม “ONESIAM Drinking Water” บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% โดยตั้งเป้าผลิตไม่ต่ำกว่า 5 แสนกระป๋องต่อปี

ONESIAM Drinking Water เป็นโครงการที่ทำขึ้นภายใต้นโยบายบริหารจัดการขยะแบบ 360 องศาอย่างครบวงจร มุ่งสู่เป้าหมายการขับเคลื่อนสู่องค์กรขยะเป็นศูนย์ หรือ Zero Waste

อีกก้าวของสยามพิวรรธน์ เพื่อบรรลุเป้าหมายลดปริมาณการฝังกลบขยะจากการดำเนินงาน 50% ภายในปี 2030 และเดินหน้าสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2050 ซึ่งการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์น้ำดื่มเป็นอะลูมิเนียมนี้ จะเพิ่มศักยภาพในการนำขยะกระป๋องไปรีไซเคิล ช่วยลดการจัดการขยะแบบฝังกลบอย่างเป็นระบบ ช่วยประหยัดพลังงานและทรัพยากรในการผลิตใหม่

เลือกใช้ “กระป๋องอะลูมิเนียม”

“นางสาวนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์” ประธานบริหารสายงานปฎิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เผยว่า สยามพิวรรธน์ดำเนินธุรกิจด้านความยั่งยืนมาโดยตลอด ทุกธุรกิจที่สยามพิวรรธน์ทำล้วนอยากให้เกิดผลต่อคนกลุ่มใหญ่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ตลอดจนดูแลสิ่งเเวดล้อมและชุมชน สิ่งที่สยามพิวรรธน์ทำต้องโฟกัสถึงผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ONESIAM Drinking Water ก็เป็นอีกโครงการหนึ่ง

หลายครั้งสยามพิวรรธน์พยายามหาทางออกเรื่องการลดปริมาณขยะ ซึ่งต้องเริ่มต้นจากตัวเองก่อน อันดับแรกต้อง “เลือกใช้” และตัวเลือกในวันนี้คือ “กระป๋องอะลูมิเนียม” เพราะกระบวนการรีไซเคิลสามารถทำได้ถึง 95% หมายความว่าไม่ต้องผลิตวัตถุดิบใหม่เพื่อใช้ผลิต ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็จะลดลงตามไปด้วย

แต่ถ้าเลือกไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องดูว่าจะบริหารจัดการอย่างไร นั่นคือการนำขยะมาคัดแยกให้ถูกต้อง ก่อนที่จะ Upcycling ให้มีมูลค่ามากขึ้น

การผลิตน้ำดื่มกระป๋องอะลูมิเนียมสามารถลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตวัตถุดิบอะลูมิเนียมได้ถึง 95% เช่นกัน ซึ่งการรีไซเคิลอะลูมิเนียม 1 กิโลกรัม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 9.13 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2eq) อีกทั้งตัวกระป๋องสามารถบีบอัดง่าย ทำให้ช่วยลดพื้นที่จัดเก็บเพื่อเตรียมนำกลับไปรีไซเคิล

นอกจากนี้ การรีไซเคิลอะลูมิเนียมยังสามารถทำได้ตลอดช่วงอายุ ไม่ใช่ 2 รอบอย่างที่หลายคนเข้าใจ แปลว่าจะทำให้เกิดมลภาวะน้อยลง นางสาวนราทิพย์ กล่าว

ดีไซน์เรียบหรู สะท้อนตัวตนสยามพิวรรธน์

กระป๋องน้ำดื่ม ONESIAM ออกแบบโดย “นายสมชนะ กังวารจิตต์” Executive Creative Director ของ “Prompt Design” นักออกแบบผู้คว้ารางวัลระดับโลกกว่า 200 รางวัล

การออกแบบกระป๋องน้ำดื่ม ONESIAM ต้องตอบโจทย์ทั้งกับสยามพิวรรธน์เรื่องความยั่งยืน และเทรนด์โลกที่กำลังนิยมใช้กระป๋อง ต่อไปนี้กระป๋องจะเป็นจุดเปลี่ยนของการทำเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะมีความง่าย ทุกคนอยู่กับกระป๋องมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่นมกระป๋องในสมัยก่อน และสิ่งเหล่านี้กำลังจะกลับมา นายสมชนะ กล่าว

เมื่อได้รับโจทย์มาก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้กระป๋องมีความโดดเด่น และลดการพิมพ์สีลงบนกระป๋อง ใช้สีอย่างเหมาะสม ความอยากอยู่ที่การส่งผ่านอัตลักษณ์ที่สยามพิวรรธน์สร้างขึ้นมาใหม่ และต้องชูความสวยงามของกระป๋อง จึงกลายเป็น “ซูเปอร์เทคนิค” เปิดความงดงามของกระป๋อง ให้ผิวกระป๋องสามารถเล่นกับแสงเงาได้ ไม่จำเป็นต้องแปะยี่ห้อเยอะ ๆ แต่ให้หรูและดูดี

กระป๋องจึงสะท้อนตัวตนของ ONESIAM ที่เปรียบเสมือน Single Planet นำเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทั้งในด้านความมั่นใจ ความกระตือรือร้น และความอัศจรรย์ ผสมผสานกับลายเส้นที่หลากหลายให้ความรู้สึกสนุกสนาน เกิดพลังงานในการสร้างสรรค์ โดยใช้เทคนิคการพิมพ์แบบเปิดให้เห็นสีเนื้อกระป๋อง เพิ่มลูกเล่นความโดดเด่นคล้ายการปั๊มนูน

“น้ำดื่ม"

ONESIAM คาร์บอนฟุตพริ้นต์ต่ำสุดในอาเซียน

น้ำดื่ม ONESIAM ผลิตโดย “Greenery Water” ผู้ผลิตน้ำดื่มกระป๋องอะลูมิเนียมแบรนด์แรกของไทย ที่มีเป้าหมายในการลดขยะจากขวดน้ำดื่มพลาสติกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมากถึง 6,000 ล้านขวดต่อปี โดยใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิลไม่ต่ำกว่า 70% ในการผลิต ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดของเสียตกค้างในระบบนิเวศ จากการนำบรรจุภัณฑ์กระป๋องอะลูมิเนียมใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นกระป๋องใบใหม่อีกครั้ง ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพ 100%

นายธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้งเพจ Greenery เผยว่า กระป๋องอะลูมิเนียมของ Greenery ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล 70% อีก 30% เป็นวัสดุใหม่ เนื่องจากอัตราการเก็บอะลูมิเนียมเพื่อนำมาใช้ใหม่ในประเทศไทยยังไม่สูงพอ แต่ในอนาคตอีก 5 ปี Greenery ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มอัตรารีไซเคิลเป็น 80% ให้ได้

สำหรับน้ำดื่มกระป๋อง ONESIAM สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 100% หลังจากที่ดื่มไปแล้วภายใน 60 ก็จะกลับมาเป็นกระป๋องใหม่ ซึ่งอะลูมิเนียมสามารถรีไซเคิลได้ตลอดช่วงชีวิตของมัน

นอกจากนี้ที่มาของอะลูมิเนียมใหม่ ต้องมีมาตรฐานตั้งแต่การเลือกเหมืองแร่ ต้องเป็นเหมืองที่มีความเป็นธรรมและให้ค่าแรงที่สมเหตุสมผลกับแรงงาน และเป็นการทำเหมืองที่ได้มาตรฐานระดับโลก กระบวนการต้องดีทั้งต่อโลกและต่อคน

สำหรับกระบวนการรีไซเคิล จะบดกระป๋องให้เป็นผง จากนั้นส่งเข้าสายพาน ผ่านความร้อน เพื่อนำส่วนที่เคลือบหรือสิ่งสกปรกบนผิวอะลูมิเนียมออก ดังนั้น สีจึงไม่มีผลกับการรีไซเคิล

“น้ำดื่มกระป๋องจาก Greenery มีค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำที่สุดในอาเซียน เนื่องจากไทยมีโรงงานหลอมอะลูมิเนียมใช้เเล้ว ดังนั้น น้ำดื่ม ONESIAM จึงมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำที่สุดในอาเซียนด้วย” นายธนบูรณ์ กล่าว

นางสาวนราทิพย์ เสริมว่า สิ่งนี้คือสเน่ห์ของอะลูมิเนียม ถ้าเป็นพลาสติก การสกรีนสีอาจมีผลกับการนำกลับไปรีไซเคิล พลาสติกจาก 100 ชิ้น อาจคัดเลือกไปรีไซเคิลได้ 30-40 ชิ้น ที่เหลืออาจสกรีนด้วยสีที่ไม่ถูกต้อง หรือผสมกับวัสดุอื่น ก็ไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้

สร้างองค์ความรู้ แพ็กเกจจิ้งรีไซเคิล 100%

นางสาวนราทิพย์ เผยอีกว่า ดีไซน์ของน้ำดื่มกระป๋อง ONESIAM ต้องโก้หรู ดูแลสิ่งเเวดล้อม ใช้ทรัพยากรให้น้อยและเกิดประโยชน์สูงสุด เพราะสิ่งแวดล้อมดูแลคนเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องช่วยกัน

แม้ในการผลิตน้ำดื่ม กระป๋องอะลูมิเนียมต้องใช้การลงทุนมากกว่าขวดพลาสติก แต่สิ่งที่สยามพิวรรธน์เห็นคือผลลัพธ์ที่จะกลับสู่สิ่งแวดล้อมมากกว่าเช่นกัน นั่นคือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่น้อยลง แม้จะมีราคาส่วนต่างแต่ก็สามารถทำได้ และเป็นองค์ความรู้ ถ้าคนมีความรู้มากขึ้น ก็ทำได้ถูกต้อง โลกก็จะได้รับการดูแลมากขึ้น

การขายไม่ได้เป็นส่วนหลัก สยามพิวรรธน์ทำเพื่อให้พนักงานใช้ในองค์กร แต่พื้นที่ของสยามพิวรรธน์มีคนเดินผ่านไปมาจำนวนมาก ถ้าคนเห็นและสงสัยว่าทำไมสยามพิวรรธน์ลุกขึ้นมาทำ ONESIAM องค์ความรู้ก็จะถูกแพร่ออกไป

ตอนนี้ตั้งราคาอยู่กระป๋องละ 10 บาท ถ้าจะทำธุรกิจขายน้ำคงวางขายเต็มไปหมด แต่ตอนนี้วางขายแค่ในพื้นที่และแอปพลิเคชั่นของสยามพิวรรธน์ การขายไม่ใช่ส่วนหลัก แต่อยากให้องค์ความรู้ทำให้ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นการสร้างองค์ความรู้ให้คนใช้แพ็กเกจจิ้งที่สามารถรีไซเคิลได้ 100%

สำหรับร้านค้าที่อยู่ในพื้นที่ ก็ไม่มีการบังคับว่าต้องขายน้ำดื่ม ONESIAM แต่ถ้าร้านมีกระป๋องอะลูมิเนียม ที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้เห็นมูลค่า แต่ถ้ารู้ว่าสามารถเอากลับมารีไซเคิลแล้วมีมูลค่ามากขึ้น นั่นคือสิ่งที่สยามพิวรรธน์พยายามให้องค์ความรู้ร้านค้า

ทั้งนี้ ลูกค้าและประชาชนทั่วไปสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยฟื้นฟูโลก โดยนำกระป๋องอะลูมิเนียมที่ใช้แล้วมาทิ้งที่เครื่องอัดกระป๋องในศูนย์การค้าในเครือของสยามพิวรรธน์ หรือนำกระป๋องมาคัดแยกแล้วนำมาฝากที่ Recycle Collection Center หรือ RCC จุดรับวัสดุบรรจุภัณฑ์สะอาดแบบไดร์ฟทรู (Drive-Thru) ที่บริเวณจุดจอดรถทัวร์ ชั้น G ฝั่ง North และบริเวณทางออก 4 ชั้น G (ฝั่งธนาคารกรุงเทพ) สยามพารากอน และจะเริ่มดำเนินการที่ไอคอนสยามในต้นปี 2567

น้ำดื่ม ONESIAM Drinking Water เริ่มวางจำหน่าย ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2566 ที่ร้าน Loft ชั้น 2 สยามดิสคัฟเวอรี่ และ ชั้น 3 ไอคอนสยาม, Grab & Go ชั้น 4 สยามดิสคัฟเวอรี่ และผ่าน ONESIAM SuperApp รวมทั้งยังมีแผนวางขายผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending machine) ในสยามพารากอน และ สยามเซ็นเตอร์ ในต้นปี 2567

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/marketing/news-1459093