ฟิล์มปิดหน้าถาด บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การผลิตอาหารเพื่อจัดจำหน่ายนั้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ บรรจุภัณฑ์สำหรับใส่อาหาร นอกจากจะเป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารแล้ว ยังเป็นการรักษาคุณภาพอาหาร ยืดอายุอาหารให้ยาวนานขึ้น อีกทั้งความสวยงาม น่าดึงดูดใจ ก็เป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ได้อีกด้วย และหากบรรจุภัณฑ์ที่เลือกใช้ในกระบวนการผลิตมาจากวัสดุธรรมชาติ หรือย่อยสลายได้ หรือเป็นวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ก็จะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดปริมาณขยะ และยังมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง
นวัตกรรม
‘ฟิล์มปิดหน้าถาดจากเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ’ ที่เกิดจากความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยทีมวิจัยเทคโนโลยีพลาสติก ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) มูลนิธิโครงการหลวง บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยฟิล์มดังกล่าวสามารถขึ้นรูปในอุตสาหกรรมการผลิตจริง
จุดเด่นของฟิล์มปิดถาดดังกล่าว เป็น
ฟิล์มบางใส ป้องกันการเกิดฝ้า ทำให้ผู้บริโภคสามารถเห็นสินค้าได้ชัดเจน สามารถปิดผนึกได้สนิทกับถาดที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกชีวภาพ ทำให้มีความปลอดภัยจากการปนเปื้อน โดยนำไปบรรจุผักสลัดพร้อมทานของมูลนิธิโครงการหลวง ช่วยยืดอายุสินค้าผักสลัดให้คงสภาพสดใหม่ในชั้นวางจำหน่ายจากเดิม 3 วัน เป็น 5 วัน สามารถตอบโจทย์ของมูลนิธิโครงการหลวงในเรื่องการใช้
บรรจุภัณฑ์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สามารถย่อยสลายได้ทั้งระบบ
‘ฟิล์มปิดหน้าถาดจากเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ’ เป็นการต่อยอดการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากประโยชน์ในการคงไว้ซึ่งคุณภาพของผลผลิต ยังเกิดประโยชน์ในมิติของสิ่งแวดล้อม ถือเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการต่อยอดนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาผลิตผลและผลิตภัณฑ์คุณภาพ สร้างความพึงพอใจแก่ผู้บริโภค และยังสนับสนุนนโยบายของประเทศอีกด้วย
คุณเดชบดินทร์ เหรียญทรัพย์ดี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การร่วมมือวิจัยนวัตกรรมฟิล์มปิดหน้าถาดย่อยสลายได้ในครั้งนี้ เป็นอีกขั้นของการคิดค้นวิจัยที่ตอบโจทย์แนวคิด Zero Waste การลดขยะให้เหลือศูนย์ได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุ การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการใช้เทคโนโลยี นำมาสู่นวัตกรรมที่ช่วยยืดอายุของพืชผักให้นานขึ้น ลดของเสีย เชื่อมั่นว่าความสำเร็จของโครงการวิจัยนี้จะเพิ่มความสามารถในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ให้ดีขึ้น พร้อมตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้จริง และส่งมอบนวัตกรรมที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภค และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นทางเลือกใหม่ที่จะทำให้ผู้คนได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกันเพิ่มมากขึ้น อันไปสู่เป้าหมายของการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคตร่วมกัน”
ฟิล์มปิดหน้าถาดนี้ถือเป็นหนึ่งความสำเร็จของโครงการที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐ เอกชน และมูลนิธิฯ ที่ได้ร่วมกันผลักดันการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ขอบคุณที่มาและภาพโดย :
นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช. ,
ผู้จัดการออนไลน์บทความน่าสนใจ : ฟิล์มแคร์รอต นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์กินได้อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่