A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

ADVERTORIALS

    

ข้อมูลสำคัญต้องมีบนฉลากอาหาร



สิ่งที่เปรียบเสมือนหน้าตาของสินค้า ดึงดูดให้เกิดความสนใจ อีกทั้งช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้ออาหารตามห้างสรรพสินค้าหรือห้างร้านต่าง ๆ นั่นก็คือ ฉลากอาหาร ที่ซึ่งแสดงถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของสินค้าไว้บนอาหาร หรือ ภาชนะบรรจุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกล่องอาหาร กระป๋อง ขวด ซองขนม เป็นต้น



ฉลากอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 194 เรื่องฉลากอาหาร พ.ศ. 2543 ให้คำนิยามของฉลากอาหารว่าหมายถึง รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย หรือข้อความใด ๆ ที่แสดงไว้ที่อาหาร ภาชนะบรรจุ (รวมถึงแผ่นพับและฉลากคอขวด) โดยกำหนดให้อาหารทุกชนิดที่ผู้ผลิตไม่ได้เป็นผู้ขายอาหารนั้นให้กับผู้บริโภคโดยตรงต้องแสดงฉลากบน ภาชนะบรรจุ ข้อมูลที่แสดงบนฉลากอาหารนั้นสามารถจำแนกตามวัตถุประสงค์ได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1. ข้อมูลความปลอดภัย ประกอบด้วย วันที่ผลิต / หมดอายุ วิธีการเก็บรักษา วิธีปรุง คำเตือนต่าง ๆ (กรณีที่กฎหมายกำหนด)
2. ข้อมูลความคุ้มค่า ประกอบด้วย ชื่อ / ประเภทของอาหาร ส่วนประกอบซึ่งเรียงลำดับตามปริมาณที่ใช้จากมากไปน้อย และปริมาณอาหาร (น้ำหนักหรือปริมาตร) ในภาชนะบรรจุ
3. ข้อมูลเพื่อการโฆษณา ได้แก่ รูปภาพและข้อความกล่าวอ้างต่าง ๆ
4. ข้อมูลเพื่อแสดงความเชื่อมั่น เช่น ยี่ห้ออาหาร ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต ผู้จำหน่ายหรือผู้นำเข้า เครื่องหมาย อย. (กรณีที่กฎหมายกำหนด) และตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ

ส่วนที่แสดงข้อมูลบนฉลากอาหาร
Brand Label เป็นส่วนแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ หรือ ตราของผลิตภัณฑ์
Grade Label แสดงคุณภาพของสินค้า ประโยชน์ สรรพคุณ ส่วนประกอบที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ และมาตรฐานของบรรจุภัณฑ์
Description Label รายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ผลิตโดยใคร ที่ไหน เมื่อไร วันหมดอายุ ขนาดบรรจุ และวิธีการใช้ที่ปลอดภัย เป็นต้น

ฉลากอาหารที่อยู่บนภาชนะบรรจุอาหาร จะมีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับส่วนประกอบของอาหาร และคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเลือกซื้อได้อย่างมั่นใจว่าเป็นอาหารที่ได้มาตรฐาน คุ้มค่า คุ้มราคา ข้อมูลโดยทั่วไปที่แสดงบนฉลากอาหาร ได้แก่

เครื่องหมายและเลขสารบบอาหาร โดยจะมีตัวอักษรของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. และตามด้วยแถบป้ายซึ่งระบุเลขรหัสข้อมูลสถานที่ผลิตและข้อมูลต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบในกรณีที่เกิดปัญหา

ปริมาณของอาหาร บางกรณีอาจจะเป็นน้ำหนักเฉพาะเนื้ออาหาร ไม่รวมน้ำ เพื่อให้รู้ปริมาณที่บรรจุ

ชื่ออาหาร เป็นชื่อสามัญที่ใช้เรียกอาหารตามปกติ ช่วยให้เราซื้ออาหารได้ตรงตามความต้องการ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

วันเดือนปี ที่ผลิต / วันหมดอายุ / วันที่ควรบริโภคก่อน อาหารบางอย่างที่มีอายุการเก็บสั้น เช่น นม หรือ ขนมปัง ส่วนใหญ่ระบุวันหมดอายุ หรือวันที่ควรบริโภคก่อน ส่วนอาหารที่มีอายุการเก็บได้นาน เช่น อาหารกระป๋อง มักจะระบุวันที่ผลิต

ส่วนประกอบ เป็นการบอกให้ทราบว่าอาหารนั้นมีส่วนประกอบที่สำคัญอะไร ในปริมาณเท่าใด มีการใช้วัตถุเจือปนอาหารหรือไม่ ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงส่วนประกอบที่ไม่ต้องการได้

วิธีปรุง / วิธีใช้ (ถ้ามี) เช่น อาหารบางชนิดต้องให้ความร้อนตามอุณหภูมิและเวลาที่กำหนดก่อนจึงจะบริโภคได้

ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต / ผู้บรรจุ / ผู้นำเข้า หากพบปัญหาการบริโภคที่เป็นข้อบกพร่องของบริษัท สามารถแจ้งข้อมูลหรือร้องเรียนเพื่อปกป้องสิทธิ์จากการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ปลอดภัยได้

คำเตือน / คำแนะนำ เพื่อให้รู้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารบางอย่างอาจไม่เหมาะกับบุคคลบางประเภท เช่น เด็ก สตรีมีครรภ์ไม่ควรบริโภค หรือ ต้องเก็บไว้ในตู้เย็นเท่านั้น

การติดป้ายฉลากอาหารนั้น นิยมติดเป็น สติ๊กเกอร์ ใส เงา ด้าน หรือ ทึบ พร้อมกับการออกแบบโดยเลือกลายกราฟฟิก รูปภาพ หรือ ตัวอักษรที่มีสีตรงข้ามกับสีของบรรจุภัณฑ์ เช่น เลือกใช้สติ๊กเกอร์สีเข้ม ๆ ติดบนบรรจุภัณฑ์ที่มีสีขาว สีใส หรือ โทนสีอ่อน ๆ ส่วนสติ๊กเกอร์สีอ่อน ๆ หรือ สติ๊กเกอร์ใส เงา ควรเลือกติดบนบรรจุภัณฑ์ที่มีสีเข้ม สีดำ เพื่อให้ป้ายฉลากอาหารมีความโดดเด่นขึ้นมา

ฉลากอาหารที่เน้นรูปทรงไดคัท เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่สร้างความโดดเด่น สร้างความน่าสนใจ ดึงดูดสายตาได้เป็นอย่างดี แต่ค่าใช้จ่ายในการผลิตค่อนข้างสูง

การสกรีนฉลากลงบนบรรจุภัณฑ์ นิยมใช้กับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความเป็นพรีเมียม สร้างภาพลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เน้นการเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์

ฉลากอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ เพิ่มมูลค่า สร้างความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นสิ่งที่ลูกค้าจะใช้พิจารณาตัดสินใจซื้อสินค้า และยังช่วยในการจดจำแบรนด์ได้เป็นอย่างดี ทำให้ในอนาคตอยากกลับมาซื้อสินค้าของเราได้อีกด้วย



ขอบคุณที่มาโดย : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม , สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) , DATA PRODUCTS TOPPAN FORMS LTD.
ขอบคุณภาพโดย : AlbanyColley จาก Pixabay