A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

ADVERTORIALS

    

เลือกบรรจุภัณฑ์ให้น้ำผลไม้ ลดความเสื่อมคุณภาพ



หนึ่งในเครื่องดื่มของคนรักสุขภาพ จะต้องมี 'น้ำผลไม้' อย่างแน่นอน นอกจากจะมีรสชาติหวานหอมชื่นใจ และมีความเชื่อที่ว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพเช่นเดียวกับการกินผลไม้ทั้งลูก แต่น้ำผลไม้ก็มีการเสื่อมคุณภาพได้ ต้องเลือกใช้ บรรจุภัณฑ์ ที่เหมาะสมเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาของน้ำผลไม้




สาเหตุที่ทำให้น้ำผลไม้เสื่อมคุณภาพ ได้แก่ จุลินทรีย์และการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นที่ทำให้รสชาติและสีของน้ำเปลี่ยนได้ นอกจากนี้ประเภทของบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสมในการบรรจุใส่น้ำผลไม้ยังอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาอื่น ๆ ไปทำลายคุณภาพของน้ำผลไม้ ดังนั้น ควรเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติในการยืดอายุการเก็บรักษาของน้ำผลไม้ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดในการดื่มน้ำผลไม้

บรรจุภัณฑ์ที่ใช้สำหรับบรรจุน้ำผลไม้ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. มีคุณสมบัติที่เข้ากันได้กับน้ำผลไม้ที่บรรจุ โดยมีการทำปฏิกิริยากับน้ำผลไม้น้อยที่สุด
2. ป้องกันการซึมผ่านของออกซิเจน กลิ่น รสชาติ และปกป้องจากแสงแดด
3. ช่วยรักษาอุณหภูมิของน้ำผลไม้
4. สะดวกใช้และจัดส่ง
5. ช่วยยืดอายุการเก็บของน้ำผลไม้

บรรจุภัณฑ์ที่นิยมใช้บรรจุน้ำผลไม้ ได้แก่

1. ขวดแก้ว แก้วเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เก่าแก่มากที่สุดประเภทหนึ่ง และยังเป็นที่นิยมใช้อยู่ในอุตสาหกรรมน้ำผลไม้อีกด้วย แก้วมีความเฉื่อยในการทำปฏิกิริยาของที่บรรจุและภาพพจน์ที่ดีดูมีคุณค่า ทำให้บรรจุภัณฑ์แก้วเหมาะสำหรับน้ำผลไม้ที่ต้องการอายุการเก็บรักษาที่ยาวนาน

2. กระป๋อง เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุน้ำผลไม้แบบบริโภคครั้งเดียว มักจะเป็นกระป๋องที่มีฝาเปิดได้ง่าย ที่ปิดฝาด้านบนจะปิดเรียบร้อยมาจากโรงงานผลิตกระป๋อง การบรรจุะบรรจุจากทางก้นกระป๋อง หลังการบรรจุทำการปิดด้วยตะเข็บคู่ตรงบริเวณก้นกระป๋อง

ในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป กระป๋องกระดาษจะเป็นที่นิยมมากในการบรรจุน้ำผลไม้ สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา กระป๋องกระดาษได้รับความนิยมอย่างสูงในการบรรจุน้ำผลไม้เข้มข้นสำหรับแช่แข็งตั้งแต่ปี ค.ศ. 1961

3. ถังและขวดที่ผลิตจากพลาสติก มักจะมีอายุการเก็บรักษาสั้นกว่าน้ำผลไม้ที่บรรจุในขวดแก้วหรือกระป๋อง ระบบบรรจุที่ใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกมักใช้ระบบบรรจุเย็น ส่วนการบรรจุร้อนอาจใช้ได้กับบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบ PET ที่มีการพัฒนาขึ้นมาพิเศษให้ทนความร้อนโดยเฉพาะ แม้ว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกจะมีอายุการเก็บรักษาสั้น แต่บรรจุภัณฑ์พลาสติกจะสะดวกในการขนส่ง เพราะไม่แตกง่ายเหมือนขวดแก้ว มีน้ำหนักน้อยกว่า และโดยเฉลี่ยบรรจุภัณฑ์พลาสติกจะมีราคาต่อหน่วยต่ำกว่าขวดแก้ว แต่ข้อเสียอีกอย่าง คือ ไม่สามารถคงรูปเมื่อได้รับแรงกด หรือถ้าเป็นการบรรจุร้อนแล้วมาปล่อยให้เย็น อาจทำให้รูปทรงของบรรจุภัณฑ์เสียหายได้ เนื่องจากผิวของบรรจุภัณฑ์ขวดพลาสติกบางเกินไป หรือรูปทรงที่ออกแบบไม่เหมาะสม

4. กล่องกระดาษแข็ง ในรูปทรงของฝาแบบหน้าจั่วหรือแบบอิฐ โครงสร้างนั้นมาจากกล่องนมนั่นเอง
วิธีการบรรจุและวิธีการทำให้ปลอดเชื้อของกล่องกระดาษแข็ง ที่ได้รับความนิยมในยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกามี 4 ระบบ คือ
• ระบบของ Tetra Pak เครื่องจักรทำการขึ้นรูป บรรจุ และปิดผนึกตัวกล่องจากวัสดุที่ป้อนเป็นม้วน
• ระบบของ Comblibloc ทำการขึ้นรูป บรรจุ และปิดผนึกตัวกล่องจากวัสดุที่ป้อนเป็นม้วน
• ระบบของ Robert Bosch เครื่องจักรที่ขึ้นรูปด้วยความร้อน (Thermoform) บรรจุ และปิดด้วยบรรจุภัณฑ์พลาสติกหรือบรรจุจากกล่องที่ขึ้นรูปไว้แล้ว
• ระบบบรรจุของเหลวของ Bowater เหมาะสำหรับการฆ่าเชื้อปริมาณมากๆ เพื่อใช้บรรจุในระบบถุงในกล่อง (Bag - in - Box)

5. ถุงใส่ในกล่อง (Bag in Box) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มักใช้กับน้ำผลไม้ส่งออกที่มีปริมาณมาก ๆ ส่วนประกอบหลักของถุงใส่ในกล่อง ประกอบด้วย
ตัวถุง เป็นบรรจุภัณฑ์อ่อนนุ่มที่พับได้ มักมีโครงสร้างพลาสติกหลายชั้น เพื่อให้มีความต้านทานต่อการซึมผ่านของออกซิเจนได้ดี
ตัวกล่องภายนอก มักจะเป็นกล่องลูกฟูก อาจจะมีตั้งแต่ 3 ชั้น ถึง 7 ชั้น แปรตามปริมาณของน้ำผลไม้ที่บรรจุภายใน มักจะมีภาคตัดขวางเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสและบริเวณด้านหน้าจะมีช่องเปิดเพื่อดึงฝาของถุงออกมาได้
ตัวฝา ส่วนมากเป็นฝาที่กดแล้วน้ำผลไม้จะไหลออกมาเป็นองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดความสะดวกในการบริโภค ในกรณีที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ขนส่งหรือบรรจุภัณฑ์ที่นำน้ำผลไม้ไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ (Intermediate Package) อาจจะไม่มีฝานี้ติดอยู่

บรรจุภัณฑ์น้ำผลไม้นั้นมีหลายหลายประเภท บรรจุภัณฑ์ต้องทำหน้าที่ป้องกันให้สินค้าไม่เสื่อมคุณภาพเร็วจนเกินไป โดยปกติน้ำผลไม้จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงรสชาติ จึงจำเป็นต้องเลือกวัสดุที่สามารถป้องกันการซึมผ่านของก๊าซออกซิเจน เพื่อรักษาอายุการเก็บรักษา และประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค


ขอบคุณที่มา: กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม , Food Network Solution
ขอบคุณรูปภาพ: Joseph Mucira จาก Pixabay