A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

ADVERTORIALS

    

เช็กให้ชัวร์ก่อนใช้อุ่นอาหาร พลาสติกชนิดไหนเข้าไมโครเวฟได้บ้าง



พลาสติกที่ใช้ในปัจจุบันมีมากมายหลายชนิด บางชนิดนำเข้าไมโครเวฟได้ บางชนิดเข้าไม่ได้ เพราะอาจทำให้วัสดุละลายและมีสารเคมีปนเปื้อนมาในอาหาร หากกินเข้าไปและสะสมในร่างกายก็อาจเป็นอันตรายในระยะยาว ลองมาสังเกตสัญลักษณ์พลาสติกกันว่าชนิดไหนเข้าไมโครเวฟได้ รวมถึงวัสดุจากธรรมชาติ ที่สามารถนำมาใช้แทนพลาสติกได้ ซึ่งเป็นทางเลือกในการช่วยลดขยะพลาสติก และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม





ภาชนะที่ใช้กับไมโครเวฟได้ คือ ภาชนะที่ผลิตจากวัสดุที่ไม่ตอบสนองกับคลื่นไมโครเวฟและสามารถทนความร้อนสูง ๆ ได้ ซึ่งถ้าหากนำภาชนะที่ทนความร้อนได้น้อยไปใช้กับไมโครเวฟ ก็อาจทำให้วัสดุละลายหรือเปลี่ยนรูปได้ โดยสังเกตได้จาก
• อ่านฉลากบนภาชนะให้ละเอียด ถ้าไม่ได้ระบุไว้ควรเลี่ยงการใช้
• ใช้พลาสติกที่ระบุว่าใช้กับไมโครเวฟได้เท่านั้น โดยสังเกตจากตัวเลขอุณหภูมิที่ปรากฏบนผลิตภัณฑ์
• ไม่ควรนำพลาสติกแบบ Single-Use มาใช้ซ้ำ เพราะอาจทำให้พลาสติกละลายได้

ปัจจุบัน พลาสติกที่นำเข้าไมโครเวฟได้ มี 2 ประเภท คือ พลาสติก CPET และ พลาสติก PP ที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
พลาสติก CPET (Crystallized Polyethylene Terephthalate) เป็นวัสดุที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีน (PET : Polyethylene Terephthalate) พลาสติกประเภทที่ 1 ชนิดเดียวกับที่ใช้ผลิตขวดน้ำพลาสติก แต่พลาสติก CPET แตกต่างตรงที่มีการเติมสาร Nucleating Agents เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติให้ดีขึ้น ทำให้วัสดุมีความยืดหยุ่น ทนทานต่ออุณหภูมิและแรงดึง รวมถึงป้องกันการซึมผ่าน ไม่ให้อากาศเข้า-ออกได้ง่าย นิยมนำมาใช้เป็นกล่องใส่อาหารสำเร็จรูปแช่แข็งอย่างที่เห็นกันในร้านสะดวกซื้อทั่วไป และสามารถนำเข้าไมโครเวฟหรือเตาอบได้ โดยสามารถทนความร้อนได้สูงถึง 230 องศาเซลเซียส

พลาสติก PP (Polypropylene) พลาสติกรีไซเคิลได้ประเภทที่ 5 เป็นพลาสติกที่มีความเหนียว อากาศสามารถผ่านได้เล็กน้อย แต่น้ำไม่สามารถซึมผ่านได้ นอกจากจะใช้เก็บอาหารสด อาหารแปรรูป และอาหารแช่แข็งได้ดี ทนต่อสารเคมีและอาหารที่มีฤทธิ์กัดกร่อนได้เล็กน้อยแล้ว ยังทนความร้อนได้ถึง 110 องศาเซลเซียส ดังนั้นสามารถใช้ใส่อาหารเพื่ออุ่นร้อนในไมโครเวฟได้ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย สำหรับภาชนะมีฝาปิด ควรนำฝาออกก่อน เพราะอาจจะผลิตจากพลาสติกต่างชนิดกันและเป็นประเภทที่ไม่สามารถทนต่อความร้อนสูงได้

อย่างไรก็ตาม เพื่อความชัวร์และความปลอดภัย ก่อนจะนำบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะพลาสติกเข้าไมโครเวฟทุกครั้ง แนะนำให้มองหาและเลือกใช้พลาสติกที่มีสัญลักษณ์ Microwave Safe หรือ Microwavable จะดีที่สุด





หากไม่ใช้พลาสติก จะใช้อะไรทดแทนได้บ้าง ?
บรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ที่ใช้ใส่ในไมโครเวฟแทนพลาสติกก็มีไม่น้อย เช่น แก้ว เซรามิก และกระดาษ แต่อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงโลหะหรืออะลูมิเนียม เพราะวัสดุเหล่านี้สะท้อนคลื่นไมโครเวฟได้ อาจจะทำให้เกิดอันตราย ประกายไฟหรือไฟไหม้ตามมาได้นั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีวัสดุทางเลือกจากธรรมชาติ ปลอดภัย ไร้สารพิษ และย่อยสลายง่าย ไว้ใช้ทดแทนพลาสติก ช่วยลดขยะพลาสติกได้อีกทางหนึ่งด้วย เช่น
• ชานอ้อย มาใช้แทน ถ้วย จาน กล่องโฟม
• ไม้ไผ่ มาใช้แทน หลอด ช้อน ส้อม ตะกร้า ชะลอม
• ใบไม้ เช่น ใบตอง ใบตาล ใบเตย มาใช้แทน จาน หรือทำเป็นห่อขนม ห่ออาหาร
• กาบหมาก มาใช้แทน ช้อน ถ้วย
• ฟางข้าวสาลี มาใช้แทน แก้วน้ำ หรือประยุกต์ทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

ถึงแม้ว่าคุณสมบัติของพลาสติกจะมีความเหนียวและมีความทนทานต่ออุณหภูมิสูง แต่ไม่สามารถใส่อาหารเพื่ออุ่นร้อนด้วยไมโครเวฟได้ทุกประเภท ดังนั้น ก่อนใช้ควรอ่านรายละเอียดบนฉลากหรือสัญลักษณ์บนผลิตภัณฑ์ให้ดีเสียก่อน ว่าสามารถใช้กับไมโครเวฟได้หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน


ขอบคุณข้อมูลจาก https://home.kapook.com/view232051.html
ขอบคุณภาพจาก
https://packaging.oie.go.th/new/admin_control_new/html-demo/file_technology/0863294715.pdf
www.123rf.com/photo_65933197_frozen-food-in-the-refrigerator-vegetables-on-the-freezer-shelves-stocks-of-meal-for-the-winter.html?downloaded=1