A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

ADVERTORIALS

    

GMP มาตรฐานเพื่อความสะอาดและปลอดภัย



ผู้ประกอบการโรงงานผลิตอาหารต้องมีกฎ ระเบียบ มาตรฐานหลายอย่างที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อผลิตอาหารพร้อมคุณภาพไปยังผู้บริโภค โดยผู้บริโภคต้องได้รับประทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ไม่มีสิ่งเจือปน หรือไม่มีสารพิษที่เป็นอันตราย ภายใต้การควบคุมมาตรฐาน GMP ซึ่งเป็นเครื่องหมายการันตีว่าอาหารของโรงงานนั้นมีคุณภาพ ปลอดภัย และเหมาะสำหรับการจำหน่ายไปสู่ผู้บริโภค



GMP ย่อมาจาก Good Manufacturing Practice หมายถึง มาตรฐานในการผลิตอาหาร ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตสินค้า เพื่อควบคุมการผลิตอาหารด้วยข้อกำหนดต่าง ๆ ให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตาม เพื่อให้ได้อาหารที่มีมาตรฐานเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย โดยเน้นการป้องกันและขจัดความเสี่ยงที่อาจจะทำให้อาหารเป็นพิษ เป็นอันตราย หรือเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค

มาตรฐาน GMP มีความน่าเชื่อถือสูงมาก เพราะได้รับการรับรองจากทั่วโลกแล้วว่ามีมาตรฐานที่ดีในเรื่องการควบคุมกระบวนการผลิตอาหาร มีการพิสูจน์จากกลุ่มนักวิชาการด้านอาหารทั่วโลกว่า GMP ทำให้อาหารจากกระบวนการผลิตมีความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ยังเป็นการรับรองว่า ถ้าหากผู้ผลิตอาหารปฏิบัติตามข้อกำหนดของ GMP ทุกอย่าง จะทำให้สามารถผลิตอาหารที่ถูกต้องตามหลักสุขอนามัยและมีความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค จะถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานสากล

GMP ควบคุมอะไรบ้าง?
GMP ควบคุมทั้งส่วนของสถานประกอบการ โครงสร้างอาคาร ไปจนถึงกระบวนการผลิตที่ต้องสะอาด ปลอดภัย และในส่วนของกระบวนการผลิต ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการผลิต การคัดสรรและควบคุมวัตถุดิบ การควบคุมคุณภาพ การจัดเก็บ ไปจนถึงผลผลิตที่สำเร็จรูป อีกทั้งยังควบคุมการจัดส่งของผู้ประกอบการด้วย โดยทางโรงงานจะต้องมีระบบการบันทึกข้อมูลและการตรวจสอบติดตามผลคุณภาพของผลิตภัณฑ์ รวมถึงระบบการจัดการที่ดีในเรื่องสุขอนามัย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายมีคุณภาพและความปลอดภัย เป็นที่มั่นใจเมื่อถึงมือผู้บริโภค

มาตรฐาน GMP แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. GMP สุขลักษณะทั่วไป (General GMP) สำหรับอาหารทุกประเภท
2. GMP เฉพาะผลิตภัณฑ์ (Specific GMP) สำหรับเน้นเรื่องความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารโดยเฉพาะ

ข้อกำหนดของ GMP สุขลักษณะทั่วไป (General GMP)
• สถานประกอบการ - ต้องสะอาดและห่างไกลจากสิ่งที่ทำให้อาหารปนเปื้อนได้ง่าย สถานประกอบการที่ใช้ในกระบวนการผลิตต้องมีขนาดเหมาะสม ออกแบบและก่อสร้างให้รองรับกับการซ่อมบำรุงและการรักษาความสะอาด สะดวกต่อการปฏิบัติงาน ส่วนพื้นที่ภายในโรงผลิตจะต้องแยกบริเวณผลิตอาหารออกเป็นสัดส่วน ทั้งยังต้องระบายอากาศได้เป็นอย่างดี

• เครื่องจักรและอุปกรณ์ – ต้องทำจากวัสดุที่ปลอดภัย ไม่ทำปฏิกิริยากับอาหาร ไม่เป็นสนิม ไม่เป็นพิษ แข็งแรงและมีการทำความสะอาดอย่างเหมาะสม ผ่านการฆ่าเชื้อก่อนและหลังกระบวนการผลิต นอกจากนี้ต้องแยกเก็บเป็นสัดส่วน และมีการป้องกันฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกด้วย และควรหมั่นตรวจสอบสภาพอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพสม่ำเสมอ

• กระบวนการผลิต - มีการควบคุมตามหลักสุขาภิบาลทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ ส่วนผสม ภาชนะ การผลิต การเก็บรักษา การขนย้าย และขนส่งผลิตภัณฑ์อาหาร

• การสุขาภิบาล – ควบคุมสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขาภิบาลเพื่อความสะดวกและความสะอาดในการปฏิบัติงาน เช่น อ่างล้างมือ ห้องน้ำ ระบบกำจัดขยะมูลฝอย การระบายน้ำทิ้ง การป้องกันสัตว์และแมลง เป็นต้น

• การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด – ต้องมีการทำความสะอาดอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันสิ่งสกปรก รวมถึงสารอันตรายปนเปื้อนสู่ผลิตภัณฑ์อาหาร ทางโรงงานจะต้องมีการทำความสะอาด ดูแลและเก็บรักษาเครื่องมือ เครื่องจักร รวมถึงอุปกรณ์สำหรับผลิตให้อยู่ในสภาพที่สะอาด ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการผลิต

• บุคลากร - ต้องสวมเครื่องแต่งกายที่สะอาดและเหมาะสมต่อการปฏิบัติงาน มีสุขภาพดี ไม่เป็นวัณโรคในระยะอันตราย และไม่เป็นโรคผิวหนังที่น่ารังเกียจหรือโรคเรื้อน

ข้อกำหนดของ GMP เฉพาะผลิตภัณฑ์ (Specific GMP)
เป็นหลักเกณฑ์ที่เพิ่มเติมจาก GMP ทั่วไป เน้นในเรื่องความเสี่ยงและความปลอดภัยของแต่ละผลิตภัณฑ์อาหารโดยเฉพาะ เช่น ข้อกําหนด GMP สำหรับน้ำบริโภค หรือข้อกําหนด GMP สำหรับนมพร้อมบริโภคชนิดเหลวที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนโดยวิธีพาสเจอร์ไรส์ เป็นต้น โดยแต่ละข้อกำหนดก็จะมีในเรื่องของการบังคับในกระบวนขั้นตอนต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไป

การบังคับใช้ GMP ตามกฎหมาย
สำนักงานคณะกรรมอาหารและยา นำเอาหลักเกณฑ์มาตรฐาน GMP มาบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 193) พ.ศ. 2543 ผู้ประกอบการอาหารจึงต้องศึกษาข้อกำหนดโดยละเอียดเพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐาน นำมาซึ่งอาหารคุณภาพที่อยู่บนพื้นฐานข้อบังคับทางกฎหมาย มาตรฐาน GMP ครอบคลุมเนื้อหาในเรื่องวิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2544 ซึ่งข้อกำหนดตามประกาศฯ (ฉบับที่ 193) พ.ศ. 2543 เป็นเกณฑ์สุขลักษณะทั่วไป ประยุกต์มาจากเกณฑ์ GMP สากลของ CodeX โดยคำนึงถึงความพร้อมของผู้ผลิตในประเทศไทย ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องเงินทุน เวลา ความรู้ เพื่อให้ผู้ผลิตทุกระดับ โดยเฉพาะขนาดเล็กกับขนาดกลาง ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก สามารถปรับปรุงและปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้ แต่ทั้งนี้ข้อกำหนดยังคงสอดคล้องตามแนวทางของหน่วยงานมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ

ประเภทอาหารที่มีการบังคับให้ใช้ GMP ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เช่น อาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็ก, อาหารทารกและอาหารสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก, น้ำแข็ง, นมโค, นมเปรี้ยว, เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท, สีผสมอาหาร, ชา, กาแฟ, อาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก, ไข่เยี่ยวม้า ข้าวเติมวิตามิน เป็นต้น

ประโยชน์ของ GMP
• ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยมีคุณภาพ
• เป็นแนวทางการผลิต เพื่อประกันว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพปลอดภัย ตรงตามที่มาตรฐานกำหนด และผลิตภัณฑ์มีความสม่ำเสมอในทุก ๆ ล็อตการผลิต
• ช่วยลดข้อผิดพลาดหรือความเบี่ยงเบนที่จะผลิตไม่ได้มาตรฐาน
• ป้องกันไม่ให้มีข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตหรือการควบคุมคุณภาพ รวมทั้งขจัดปัญหามิให้เกิดขึ้นซ้ำซ้อน
• ส่งผลต่อคุณภาพอาหารในระยะยาว และช่วยลดต้นทุนการผลิต
• มีความสะดวก และง่ายต่อการติดตามข้อมูล
• มีการควบคุม และรักษามาตรฐานความสะอาด และถูกสุขลักษณะของโรงงาน
• สร้างความสะดวกปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานในขณะปฏิบัติงาน
• สร้างทัศนคติที่ดี และถูกต้องแก่ผู้ปฏิบัติงาน
• ความคล่องตัวในการดูแล การจัดการ และการประเมินงานในโรงงาน

มาตรฐาน GMP เป็นการรับรองขั้นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การรับรองมาตรฐานลำดับต่อไปที่สูงกว่า เช่น ISO 9000 และ HACCP (Hazards Analysis and Critical Points) เป็นต้น มาตรฐานดังกล่าวนอกจากได้รับการรับรองมาตรฐานด้านอาหารแล้ว ยังช่วยเพิ่มภาพลักษณ์ของโรงงานผลิตอาหารให้ดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นใบเบิกทางในการต่อยอดธุรกิจโดยเฉพาะการส่งออกไปต่างประเทศ การันตีความปลอดภัยของสินค้า ลดความเสี่ยงเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคได้อีกด้วย


ขอบคุณที่มาโดย CHAIJAROENTECH , PRO IND Solutions , SCG CHEM
ขอบคุณภาพโดย SHUTTER STOCK


อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่