A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

ADVERTORIALS

    

โปรไบโอติกส์ (Probiotic) เสริมภูมิคุ้มกัน คลีนระบบร่างกาย



ในวงการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเชื่อกันว่า การรับประทานโปรไบโอติกส์ (Probiotic) ถือเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถจะช่วยส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรงจากภายในร่างกายได้ โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหาร รวมถึงระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งสามารถลดปัญหาท้องผูก ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย เสริมภูมิคุ้มกัน และลดความรุนแรงของโรคเรื้อรังบางชนิด





โปรไบโอติกส์ (Probiotic) คือ จุลินทรีย์หรือแบคทีเรียชนิดดีที่อาศัยอยู่ในหลายระบบในร่างกาย เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น ตัวอย่างในทางเดินอาหาร จะเป็นจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติซึ่งทนทานต่อกรดและด่าง สามารถจับที่บริเวณผิวของเยื่อบุลำไส้แล้วผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่ดี ช่วยให้ลำไส้แข็งแรง และเมื่อร่างกายมีแบคทีเรียชนิดนี้อยู่ในประมาณที่เหมาะสมและเพียงพอ จะสามารถช่วยกระตุ้นให้การทำงานของระบบทางเดินอาหารและระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างสมดุล เนื่องจากจุลินทรีย์หล่านี้มีส่วนช่วยในการดูดซึมสารอาหาร การป้องกันโรค และการรักษาภาวะที่ผิดปกติของร่างกาย โปรไบโอติกส์สามารถพบได้ในอาหาร เช่น นมเปรี้ยว, โยเกิร์ต, กิมจิ, มิโสะ, ผลไม้รสเปรี้ยว, อาหารหมักดอง เป็นต้น

ประเภทของโปรไบโอติกส์ (Probiotic) แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ
1. แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) เป็นแบคทีเรียจุลินทรีย์ชนิดดีในกลุ่มของโปรไบโอติกส์ที่พบได้มากที่สุด สามารถพบได้ในอาหารธรรมชาติ เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว อาหารหมักดองบางชนิด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อระบบขับถ่าย และเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาไม่สามารถย่อยแลคโตสในนมได้
2. บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) หนึ่งในจุลินทรีย์โปรไบโอติกส์ที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุด พบได้ในอาหารที่ทำมาจากนม ช่วยในการบรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน และมีการศึกษาในหลายชนิดว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายที่แตกต่างกันออกไป เช่น ช่วยผลิตสารตั้งต้นของภูมิต้านทานในร่างกายได้
3. แซคคาโรไมซิส (Saccharomyces Boulardii) เป็นยีสต์ที่พบได้ในกลุ่มของโปรไบโอติกส์ สามารถช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร แต่เป็นชนิดที่ไม่มีอยู่ในร่างกายคนตามธรรมชาติ

ประโยชน์ของโปรไบโอติกส์ (Probiotic)
1. ป้องกัน และบรรเทาอาการท้องเสีย รวมถึงความรุนแรงของอาการท้องเสียที่เกิดจากภาวะอาหารเป็นพิษ และได้ผลดีมากในกลุ่มที่เกิดอาการท้องเสียจากเชื้อไวรัสโรต้า (Rotavirus)
2. แก้ปัญหาท้องผูก และรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โดยการปรับสภาพของระบบทางเดินอาหารและลำไส้ให้กลับมาสู่ภาวะปกติทำให้เยื่อบุลำไส้หลั่งสารพิษออกมาน้อยลง
3. เพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย และรักษาโรคภูมิแพ้ ช่วยปรับสภาพภูมิคุ้มกันในร่างกายช่วยลดการอักเสบและทำให้ปัญหาภูมิแพ้ลดลง
4. ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ มีส่วนของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากมีโปรไบโอติกส์ที่ดีในลำไส้เพียงพอก็จะสามารถช่วยเปลี่ยนสภาพแบคทีเรียในลำไส้ ป้องกันไม่ให้เกิดสารพิษเหล่านี้ได้
5. ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก การได้รับโปรไบโอติกส์อย่างเพียงพอสามารถช่วยลดอาการท้องผูกได้
6. ช่วยเสริมสร้างสุขภาพช่องปากและฟัน ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในช่องปากอันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดฟันผุ

ปัจจัยที่ทำให้ โปรไบโอติกส์ (Probiotic) ลดลง
- รับประทานน้ำตาลและของหวานเป็นประจำ
- รับประทานแป้งที่ผ่านการขัดสี
- ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- การใช้ยาปฏิชีวนะ
- ความเครียด
- สูบบุหรี่
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ไม่ออกกำลังกาย
- อายุที่มากขึ้น

แนะนำอาหารโปรไบโอติกส์ที่ควรรับประทาน
- โยเกิร์ต กระบวนการในการทำโยเกิร์ตมาจากการหมักเป็นหลัก ดังนั้นเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในโยเกิร์ตจึงเป็นจุลินทรีย์ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และมีอยู่ในปริมาณค่อนข้างสูง ซึ่งช่วยให้ระบบย่อยอาหารของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ในกรีกโยเกิร์ตที่จะมีจุลินทรีย์ Lactobacillus Acidophilus และ Lactobacillus Casei ที่ช่วยเพิ่มเชื้อแบคทีเรียที่ดีต่อร่างกายในท้องของเราด้วย
- กิมจิ เพราะนอกจากจะมีโปรไบโอติกส์ดี ๆ ต่อร่างกาย และมีรสชาติเปรี้ยว ๆ จะช่วยเพิ่มรสชาติให้อาหารเข้มข้นขึ้น อร่อยขึ้นแล้ว กิมจิยังขึ้นชื่อในเรื่องของการช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้อีกด้วย
- มิโสะ แหล่งอาหารชั้นดีที่เต็มไปด้วยโปรตีน แคลเซียม ธาตุเหล็ก และแมกนีเซียม ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค เสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วยในการเผาผลาญไขมันและเปลี่ยนเป็นพลังงาน และช่วยให้หลอดเลือดหัวใจแข็งแรง ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจเฉียบพลันได้
- คอทเทจชีส นอกจากจะมีเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังมีสารอาหารที่ดีต่อร่างกายอย่าง แคลเซียม ในปริมาณสูงอีกด้วย ซึ่งช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรงนั่นเอง
- น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล (Apple Cider Vinegar) นิยมนำมาผสมในน้ำสลัด เป็นอาหารที่เหมาะกับคนที่อยากควบคุมน้ำหนัก เพราะเพิ่มการทำงานของระบบเผาผลาญไขมัน และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้รับประทานวันละ 4 ช้อนโต๊ะ





ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการวิจัยของประเทศเกาหลีร่วมกับฝรั่งเศส พบว่า 'กิมจิ' อาหารพื้นบ้านของเกาหลีที่เรารู้จักกันดีนั้น อาจช่วยลดความรุนแรงในการเกิดโรคโควิด-19 ได้ โดยระบุว่าในกิมจิมีสารอาหารหลายชนิด ทั้งผักกาด พริกชี้ฟ้า ขิง และกระเทียม ที่มีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ซึ่งส่วนผสมต่าง ๆ เหล่านี้ ออกฤทธิ์ต่อ Nrf2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกลไกการอักเสบของร่างกาย

ในงานวิจัยนี้ได้ระบุว่า ในอาหารหมักดองแบบดั้งเดิมมักประกอบด้วย แบคทีเรียดี ชนิดแลคโตบาซิลลัส ดังนั้น การรับประทานอาหารที่มีโปรไบโอติกส์น่าจะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับผู้ป่วย ชุมชนหรือผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ รวมถึงสถานพยาบาลในการเลือกใช้อาหารกลุ่มนี้ในการฟื้นฟู และลดความรุนแรงชองผู้ป่วยได้

สุขภาพที่ดีนั้น ต้องดูแลจากภายในด้วยการรักษาสมดุลจุลินทรีย์ให้เป็นปกติและมีอย่างเพียงพอ เพราะเมื่อจุลินทรีย์ลดลงจนเหลือน้อยก็เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มโอกาสให้ร่างกายขาดความสมดุล และผิดปกติ รวมทั้งเสี่ยงที่จะมีได้รับเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายได้ การรับประทานโปรไบโอติกส์ทั้งจากอาหาร หรืออาหารเสริมจึงเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งในการเสริมจุลินทรีย์ชนิดดีและรักษาสมดุลให้กับจุลินทรีย์ในร่างกายได้


ขอบคุณที่มาโดย : MEGA We Care , Jurairat N. จาก Sanook.com , กรุงเทพธุรกิจ
ขอบคุณภาพถ่ายโดย : Karley Saagi จาก Pexels , Any Lane จาก Pexels , Eunyoung lee จาก Pixabay