A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

ADVERTORIALS

    

10 เทรนด์ธุรกิจอาหาร ปี 2020



Innova Market Insights ผู้นำด้านความรู้ระดับโลกในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เปิดเผยเทรนด์ธุรกิจอาหารในปี 2020 หรือ 10 แนวโน้มอาหารปี 2020 โดยเป็นผลวิเคราะห์จากผลการสำรวจผู้บริโภคทั่วโลก ที่ทั้งผู้ประกอบธุรกิจอาหาร ผู้ผลิตอาหาร ควรศึกษาถึงแนวโน้มการบริโภคของคนยุคนี้ จากรายงาน Top 10 Food Trends for 2020 ซึ่งมี 10 ประเด็นดังนี้





1. อาหารที่มีการเล่าเรื่อง (story telling) – ผู้บริโภค 56% กล่าวว่า เรื่องราวมีผลต่อการซื้ออาหาร ผู้บริโภคต้องการรู้เรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของผลิตภัณฑ์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่มาของส่วนผสม และกระบวนการผลิต เนื่องจากผู้บริโภคต้องการความโปร่งใสและความซื่อสัตย์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างแบรนด์ให้มีคุณค่าและเพิ่มความสัมพันธ์กับผู้บริโภคอีกด้วย

2. อาหารทดแทนเนื้อสัตว์จากพืช (the plant-based) - จากรายงานของ Innova พบว่า ผู้บริโภคชอบคำกล่าวอ้างว่า plant-based มากกว่า vegan หรือ vegetarian โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2014 - 2018) อาหารที่กล่าวอ้างว่าเป็น plant-based ขยายตัวถึง 68% ต่อปี ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มาแรงมาก และเชื่อว่าจะเป็น Mega Trend แห่งปี และเป็นอนาคตของธุรกิจอาหารเลยก็ว่าได้

3. ความยั่งยืนด้านอาหาร – ผู้บริโภคยินดีจ่ายเพิ่มขึ้นให้กับสินค้าที่มีวิถีการผลิตที่มีความยั่งยืน โดยผู้บริโภคคาดหวังให้ธุรกิจลงทุนในความยั่งยืนเพิ่มขึ้นจาก 65% ในปี 2018 เป็น 87% ในปี 2019 และราว 50% จะเห็นได้ว่าหลายแบรนด์เริ่มปรับตัวหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยปัจจุบันยังมีปัญหาการขาดแคลนอาหารในบางพื้นและมีอาหารเหลือทิ้งในบางพื้นที่ จึงต้องมีการปรับสมดุลด้านอาหาร หรือที่เรียกเทรนด์นี้ว่า ‘อาหารเพื่อความยั่งยืนของโลก’

4. อาหารที่ตอบสนอง lifestyle – โลกในยุคดิจิทัลที่มีเทคโนโลยีกับสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ไลฟ์สไตล์ของผู้คนก็เริ่มเปลี่ยนไปมากขึ้นด้วย รวมทั้งไลฟ์สไตล์การบริโภคอาหารด้วย อย่างเช่น กลุ่ม Gen Z ต้องการเครื่องดื่มโปรตีน คนสูงวัยต้องการอาหารสุขภาพ อาหารสำหรับผู้ออกกำลังกายหรือควบคุมน้ำหนัก หรือความเร่งรีบในปัจจุบันต้องการอาหารปรุงสำเร็จพร้อมทาน อุ่นได้ด้วยไมโครเวฟ เป็นต้น

5. เนื้อสัมผัสของอาหาร (food texture) – ผู้บริโภค 70% เห็นว่าเนื้อสัมผัสช่วยให้อาหารน่าสนใจมากขึ้น มีความสำคัญต่อการยอมรับในคุณภาพอาหารของผู้บริโภค ทำให้เกิดความน่าจดจำ ไม่ว่าจะเป็นการกัด การเคี้ยว การบดอาหารในปาก เพิ่มความซับซ้อนในการสัมผัส จึงไม่ใช่เฉพาะแค่รสชาติของอาหารเท่านั้นที่จะดึงผู้บริโภคได้

6. สารอาหารหลักในอาหาร (Macronutrient) – ผู้บริโภคจะคำนึงถึงสารอาหารหลักในอาหาร เช่น ผู้บริโภคไม่ต้องการน้ำตาล แต่ต้องการ fiber ที่ให้พลังงานและย่อยง่าย ขึ้นอยู่กับความต้องการอาหารของคนแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะเป็นหัวข้อที่คนยุคนี้ให้ความสำคัญต่ออาหารที่รับประทานมากขึ้น

7. อาหาร hybrid – ผู้บริโภคชาวอเมริกัน 70% ชอบอาหารที่มีรสชาติคละกัน เช่น หวานและเค็ม หรือการนำอาหารคนละเมนูกัน มารวมกันจนเกิดเป็นเมนูใหม่ขึ้นมา เพื่อความแปลกใหม่หรือตรงตามต้องการมากขึ้น

8. ส่วนผสมของอาหาร (Food Ingredients) – ผู้บริโภคสนใจดูส่วนผสมของอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น และพร้อมจะยอมรับ ทดลองสิ่งใหม่ ๆ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานการยอมรับและคุ้นเคย เช่น fiber, probiotic, prebiotic หรือสารสกัดจากกัญชา

9. อาหารเพื่อสุขภาพ – เทรนด์รักสุขภาพและการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นมาหลายปี แต่การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพยังคงเป็นเมกะเทรนด์ต่อไป โดย Innova เรียกแนวโน้มนี้ว่า cosmeceutical และเห็นว่าแนวโน้มนี้มีศักยภาพในการขยายตัวอย่างมากในอนาคต

10. อาหารเฉพาะตัวบุคคล (personalization) – ผู้บริโภค 2 ใน 5 ต้องการอาหารที่ออกแบบให้ตรงกับความต้องการของตนและเป็น limited-edition และ Innova คาดว่า อาหารแบบ Limited นี้จะขยายตัวถึง 30% ต่อปี เป็นอาหารที่คำนึงถึงความต้องการเฉพาะตัวบุคคล เพศ วัย ระดับกิจกรรมการใช้ชีวิต อาหารที่ชอบ รูปแบบการออกกำลังกายที่ชอบ และเป้าหมายด้านโภชนาการ เช่น เพื่อลดน้ำหนัก เพิ่มน้ำหนัก รักษาน้ำหนัก เป็นต้น

แม้โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อหลากธุรกิจทั่วโลก แต่ธุรกิจอาหารกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่มีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ธุรกิจอาหารจึงต้องปรับตัวตามให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นกระแสรักสุขภาพ กระแสรักสิ่งแวดล้อม หรือความต้องการความเร่งด่วนในชีวิตปัจจุบัน เป็นต้น


ขอบคุณที่มาจาก www.nfi.or.th, www.bangkokbanksme.com