A comprehensive directory of food manufacturers, distributors and suppliers in Thailand. Find updated business information on Thailand Agri Food companies.

ADVERTORIALS

    

อาหารทะเลแช่แข็ง (Frozen Seafood)



สถานที่ที่ผู้คนส่วนใหญ่เลือกเป็นแหล่งช็อป คือ ซุปเปอร์มาร์เก็ต เพราะความสะดวกสบายและเป็นศูนย์รวมข้าวของเครื่องใช้ อุปโภค และบริโภค และหากเราเดินเข้าไปยังโซนอาหาร จะเห็นตู้แช่แข็งวางเรียงรายมากมายให้เราได้เลือกซื้อ ซึ่งหนึ่งในนั้นจะมีวัตถุดิบเป็นอาหารทะเลแช่แข็งที่อยู่ในรูปแบบที่พร้อมจะนำไปใช้ประกอบอาหารของเราได้



การแช่แข็ง คือ การใช้อุณภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ซึ่งปกติจะอยู่ที่ระดับ -18 องศาเซลเซียสลงไป ด้วยความเย็นระดับนี้จะไม่มีจุลินทรีย์ชนิดใดสามารถเจริญเติบโตได้

ประโยชน์ของการแช่แข็ง สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ
1. การเปลี่ยนน้ำเป็นน้ำแข็ง ทำให้จุลินทรีย์ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ เพราะจุลินทรีย์ต้องใช้น้ำในการเจริญเติบโต
2. การหยุดปฏิกิริยาทางเคมี คือ หยุดการทำงานของเอนไซม์ ทำให้สามารถรักษารสชาติและคุณค่าทางอาหารไว้ได้

หากผ่านกระบวนการต่าง ๆ อย่างถูกวิธี ตั้งแต่การแช่แข็ง การเก็บ และการละลายน้ำแข็ง อาหารนั้นจะคงรสชาติและเนื้อสัมผัสไว้ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญ คุณภาพของอาหารก่อนทำการแช่แข็ง หากเป็นอาหารที่สด คุณภาพดีอยู่แล้ว การแช่แข็งก็จะเป็นการรักษาสภาพไว้เช่นนั้น และป้องกันการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในอาหาร ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการขนส่งอย่างมาก

นอกจากนั้น การแช่แข็งยังทำลายเชื้อโรค (ในกรณีที่มี) ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับปลาที่จะเสิร์ฟดิบ เช่น แซลมอนดิบ เพื่อฆ่าเชื้อโรคหรือถนอมอาหาร มีการทำกันมาอย่างยาวนานในประเทศเขตหนาว

ขั้นตอนการแช่แข็ง มีดังนี้
1. การล้างทำความสะอาด ต้องล้างหลาย ๆ ครั้ง เพื่อขจัดสิ่งเจือปน และเชื้อจุลินทรีย์ที่อาจจะติดมา
2. การตัดแต่งขั้นต้น เช่น ตัดหัว ขอดเกล็ด นำไส้ของปลาออก หรือปลาหมึกต้องนำกระดองออก ตัดตา และถุงหมึกออก จากนั้นล้างให้สะอาด
3. การตัดแต่งขั้นสุดท้าย แล่ตามความต้องการของลูกค้า และล้างให้สะอาด
4. การแช่แข็ง

ระยะเวลาในการจัดเก็บ สำหรับช่องฟรีซที่มีอุณหภูมิต่ำได้ถึง -18 องศาเซลเซียส โดยแบ่งตามประเภทของอาหารทะเล ดังนี้
1. ปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาบะ เก็บได้ประมาณ 4 เดือน
2. ปลาเนื้อขาว เช่น ปลากะพง ปลาเก๋า ปลาหิมะ เก็บได้ประมาณ 8 เดือน
3. กุ้ง ปู เก็บได้ประมาณ 6 เดือน
4. หอย เก็บได้ประมาณ 4 เดือน

วิธีการละลายอาหารแช่แข็งที่ดีที่สุด คือ นำมาใส่ชามวางในตู้เย็นช่องปกติประมาณ 8 - 10 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้น หากอาหารมีขนาดใหญ่

ข้อห้ามในการละลายอาหารแช่แข็ง มีดังนี้
1. ไม่ควรทิ้งให้ละลายในอุณภูมิห้อง หรือราดด้วยน้ำอุ่น เพราะจะทำให้เนื้อสัมผัสเละ รวมถึงอาจเกิดแบคทีเรียได้
2. หากยังไม่นำมาทำอาหาร ไม่ควรปล่อยให้ละลาย เพราะจะทำให้จุลินทรีย์เจริญเติบโต รวมถึงสูญเสียรสชาติไปกับน้ำที่ละลายออกมาได้
3. หลังจากทำการละลายแล้ว ก็ไม่ควรนำกลับไปแช่เย็นอีก เพราะจะเกิดแบคทีเรียได้เช่นกัน





การแช่แข็งจะช่วยให้เก็บรักษาอาหารได้ยาวนาน เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีเวลาซื้ออาหารทะเลบ่อย ๆ หรือทำอาหารทานครั้งละไม่มาก โดยที่สามารถซื้อปลาทั้งตัว และสั่งให้ทางร้านแล่เป็นชิ้นตามที่ต้องการทำอาหารแต่ละครั้ง แล้วแช่แข็งแยกชิ้นได้

National Geographic ยังได้สนับสนุนการบริโภคอาหารทะเลแช่แข็ง ด้วยเหตุผลตัวอย่างดังนี้
1. การแช่แข็งช่วยลดการสูญเสียอาหารไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะสามารถแบ่งออกมาละลายตามปริมาณที่ต้องการรับประทาน ส่วนที่เหลือก็เก็บไว้ได้นาน โดยยังคงความสดอยู่
2. ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง ช่วยให้ชาวประมงทำงานอย่างปลอดภัยมากขึ้น เพราะความกดดันเรื่องเวลาได้ลดลงไปมาก
3. การขนส่งมีทางเลือกมากขึ้น เมื่อก่อนต้องส่งโดยเครื่องบินเท่านั้น เพื่อต้องการความสด แต่การแช่แข็งสามารถใช้รถ เรือ หรือรถไฟแทนได้ ซึ่งแน่นอนว่าช่องทางเหล่านั้นดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

จะเห็นได้ว่า อาหารทะเลแช่แข็งมีคุณค่าทางโภชนาการและอร่อยไม่ต่างจากอาหารสด แต่ทั้งนี้ ในการเลือกซื้อต้องพิจารณาถึงคุณภาพในการคัดสรรวัตถุดิบ และมาตรฐานกระบวนการผลิตของโรงงานด้วย

ขอบคุณข้อมูล:
http://www.boxoffish.com/3629363436273634361936073632364836213649359436563648361836553609-vs-3629363436273634361936073632364836213649359436563649358636553591.html
ขอบคุณรูปภาพ:
ivabalk จาก Pixabay >> https://pixabay.com/th/photos/อาหารทะเล-ถูกแช่แข็ง-หอยแมลงภู่-3052271
skeeze จาก Pixabay >> https://pixabay.com/th/photos/ปลากะพงไฮบริด-ปลา-อาหาร-แช่แข็ง-1734923